ทัพเรือ จัดงาน “นาวีวิจัย 2019 สร้างนวัตกรรม นำสู่สายการผลิต”

“นาวีวิจัย 2019 สร้างนวัตกรรม นำสู่สายการผลิต” – สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ จัดงาน “นาวีวิจัย 2019 สร้างนวัตกรรม นำสู่สายการผลิต” (INNOVATION AND BEYOND)

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ห้องประชุมบริพัตร อาคารสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานเปิดงาน “นาวีวิจัย 2019 สร้างนวัตกรรม นำสู่สายการผลิต” โดยมี พลเรือตรี วรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ ให้การต้อนรับ

สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือจัดให้มีงานนาวีวิจัยเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศยกย่องเกียรติคุณนักวิจัยของกองทัพเรือ เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำเสนอผลงานวิจัย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ นำไปสู่สายการผลิตเพื่อเป็นการพึ่งพาตนเองและเป็นการต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพเรือและประเทศชาติต่อไป การจัดงาน “นาวีวิจัย 2019 สร้างนวัตกรรม นำสู่สายการผลิต”

โดยก่อนหน้าพิธีเปิด ในเวลา 09.30 น. พลเรือเอก พูลศักดิ์ อุบลเทพชัย ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ ได้เป็นประธานใน พิธีมอบรางวัล เกียรติยศนาวีและ การประกาศยกย่อง เกียรติคุณนักวิจัยดีเด่นของกองทัพเรือ โดยในปีนี้ ในส่วนของการมอบรางวัลเกียรติยศนาวี
ให้บุคคลดีเด่นของกองทัพเรือ ประจำปี 2562 มีผู้ผ่านการพิจารณาได้รับรางวัลเกียรติยศนาวี จำนวน 4 นาย คือ

1. พลเรือตรีอาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ผลงาน การให้ความช่วยเหลือผู้ฝึกสอนและนักฟุตบอลทีมหมู่ป่าอะคาเดมี ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยเป็นผู้บังคับบัญชาและสั่งการ ตลอดจนนำชุดปฏิบัติงานพิเศษเข้าพื้นที่จนสามารถปฏิบัติภารกิจลุล่วง ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างปลอดภัย

2. นาวาโทบพิธ ทศเทพพิทักษ์ หัวหน้านายช่างโรงงานหล่อหลอมและไม้แบบ แผนกโรงงานเครื่องกล กองโรงงาน อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ผลงาน ประสบความสำเร็จในการวิจัยและทดสอบใบจักรเรือแมงกานีสอะลูมิเนียมบรอนซ์ หรือใบจักร Voith Schneider (VSP) ในฐานะนักวิจัยด้านการขึ้นรูปโลหะ และออกแบบแม่พิมพ์งานหล่อด้วยเทคนิคการเอียงเทหล่อ Tilting Casting ครั้งแรกในประเทศไทย สามารถทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้โดยสมบูรณ์ ทำให้ประหยัดงบประมาณแก่ทางราชการได้เป็นจำนวนมาก

3. พันจ่าตรีสันติ คุ้มคำ ชุดปฏิบัติการข่าว หน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง ผลงาน การปฏิบัติด้านการข่าวที่โดดเด่นทำให้สามารถจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายในคดีสำคัญหลายคดี 4. จ่าเอกเฉลิม บุญกองชาติ ชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ

ผลงาน การให้ความช่วยเหลือผู้ฝึกสอนและนักฟุตบอลทีมหมู่ป่าอะคาเดมี ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยเป็นกำลังพลในการลำเลียงขวดอากาศและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปยังโถง 3 ตลอดจนเป็นผู้ที่ดำน้ำนำทางแพทย์และเจ้าหน้าที่เวชศาสตร์ใต้น้ำไปยังจุดที่พบผู้ประสบภัยเพื่อตรวจรักษา พร้อมลำเลียง นำอาหาร น้ำดื่มและยาไปให้ผู้ประสบภัย จ่าเอกเฉลิม เป็นนักดำน้ำที่ยืนหยัดทำงานตั้งแต่วันแรกของการดำน้ำค้นหาจนกระทั่งภารกิจสำเร็จโดยไม่ป่วยหรือขอพัก โดยเข้าทำงานทุกวันทั้งงานหลักที่ผู้ควบคุมการดำน้ำมอบหมาย หรืองานจิตอาสาที่ช่วยหน่วยงานอื่น

นอกจากนั้นในส่วนของการประกาศยกย่องเกียรติคุณนักวิจัยดีเด่นของกองทัพเรือ ประจำปีงบประมาณ 2562 มีจำนวน 9 ผลงาน โดยแบ่งออกเป็น ผลงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารด้านยุทโธปกรณ์ 3 ผลงาน ผลงานวิจัยด้านสิ่งประดิษฐ์ 4 ผลงาน และผลงานด้านหลักการ 2 ผลงาน ประกอบด้วย

ผลงานการวิจัยและพัฒนาการทางทหารด้านยุทโธปกรณ์ 3 ผลงาน รางวัลดีเด่น 1. การหล่อใบจักรนิกเกิลอะลูมิเนียมบรอนซ์สำหรับเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (PCF) โดยมี นาวาเอก เฉวียงเถื่อนบุญ จากกรมอู่ทหารเรือ เป็นนายทหารโครงการ 2. อากาศยานไร้นักบินขึ้น – ลงทางดิ่งแบบนารายณ์ 3.0 โดยมี นาวาเอก ภาณุพงศ์ ขุมสิน จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ เป็นนายทหารโครงการ

รางวัลชมเชย 1. ปลอกทวีแรงถอย (Blank Firing Attachment : BFA) ของปืนกลขนาด .50นิ้ว แบบเอ็ม 2 ลำกล้องหนัก(M2 HB) โดยมี นาวาเอก ชัชวาล โตรุ่ง จากกองเรือยุทธการ เป็นนายทหารโครงการ

ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ 4 ผลงาน รางวัลดีเด่น 1. Test Set Simulator ระบบเครื่องควบคุมการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้รถถังแบริเออร์ โดยมี นาวาโท วิรัตน์วงษ์ไสว จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ เป็นนายทหารโครงการ

รางวัลชมเชย 1. ระบบเบิก – คืน และตรวจสอบอาวุธปืน โดยมี นาวาโท สิทธิพร เจริญวัย จากกรมอิเล็กทรอนิกส์ทหารเรือ เป็นนายทหารโครงการ 2. กล้องวงจรปิดเคลื่อนที่แบบ Hybrid (Hybrid Mobile CCTV) เพื่อสนับสนุนงานด้านความมั่นคงและใช้งานทั่วไป โดยมี เรือเอก พิทักษ์ ทรัพย์คณารักษ์ จากกรมยุทธศึกษาทหารเรือ เป็นนายทหารโครงการ 3. เครื่องฝึกหัดการช่วยฟื้นคืนชีพและเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ไทยแลนด์ 4.0 โดยมี นักเรียนจ่า ธวัชชัย บุญเพียร จากกรมแพทย์ทหารเรือ เป็นนายทหารโครงการ

ผลงานการวิจัยและพัฒนาการทางทหารด้านหลักการ 2 ผลงาน รางวัลชมเชย 1. โปรแกรมบริหารข้อมูลโครงการวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ โดยมี นาวาเอก ชุติภาส ช่างเกวียน จากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ เป็นนายทหารโครงการ 2. Education Multimedia : การส่งเสริมการเรียนรู้ทางการพยาบาลในศตวรรษที่ 21 โดยมี นาวาโทหญิงสุปรานี พลธนะ จาก กรมแพทย์ทหารเรือ เป็นนายทหารโครงการ

นอกจากนั้นภายในงานได้จัดให้มีกิจกรรมที่สำคัญ คือการสาธิตผลงานวิจัยสนับสนุนการตรวจค้นวัตถุต้องสงสัย การจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยของกองทัพเรือ พร้อมทั้งของภาครัฐและเอกชน

ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพบก ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ องค์การมหาชน และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร กรมแพทย์ทหารบก

โดยในส่วนของการจัดแสดงผลงานวิจัยมีผลงานที่น่าสนใจเช่น การสร้างตะเกียงระบบเลนส์หมุนพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้กับประภาคารกระโจมไฟของกรมอุทกศาสตร์ ทุ่นระเบิดทอดประจำที่ปราบเรือดำน้ำแบบล่องหน

ระบบควบคุมบังคับบัญชาแบบพกพา ระบบแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องฝึกจำลองยุทธ์ NWS การผลิตลูกปืน 30X173 มิลลิเมตรชนิดฝึกและผลงานวิจัยอากาศยานไร้นักบินเพื่อการลาดตระเวนทางทะเลในแบบต่าง ๆ ที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือได้สร้างและนำไปสู่การใช้งาน ตามแนวคิดในการจัดงานคือ “นาวีวิจัย 2019 สร้างนวัตกรรมนำสู่สายการผลิต” (INNOVATION AND BEYOND)


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน