ปัจจุบัน ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 มีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการ “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ” เพื่อรองรับการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.55 ล้านคน จำนวน 90,685 ร้านค้า เป็นร้านค้าแบบติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) จำนวน 33,448 ร้าน และแบบใช้แอปพลิเคชัน “ถุงเงินประชารัฐ จำนวน 57,237 ราย โดยได้รับการอนุมัติให้ติดตั้งเครื่อง EDC และ Mobile Application แล้วรวม 60,873 ร้านค้า

ในจำนวนร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเหล่านี้ กรมการค้าภายในมีแผนที่จะพัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้เป็น “ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 4.0” มีเป้าหมายนำร่องพัฒนาร้านค้าต้นแบบอำเภอละ 1 ร้าน รวม 878 ร้านทั่วประเทศ

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การผลักดันร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 4.0 ดังกล่าว กรมฯ มีเป้าหมายให้เป็นร้านค้าที่สามารถแข่งขันได้ในยุคการค้าปลีก ค้าส่ง ที่มีการแข่งขันกันรุนแรง และสามารถต่อสู้กับร้านสะดวกซื้อได้ โดยการช่วยเหลือ จะเข้าไปช่วยปรับโฉมหน้าร้านค้าใหม่หมด ทั้งหน้าตาของร้าน การจัดวางสินค้า มีป้ายไฟเด่นชัด และมีความทันสมัย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาซื้อสินค้า

สำหรับแนวทางการพัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 4.0 กรมฯ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น เครือสหพัฒน์ ยูนิลีเวอร์ เอไอเอส และอีกหลายองค์กรในการเข้าไปช่วยร้านค้าที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งการปรับปรุงร้านค้า การบริหารจัดการร้าน การทำบัญชี การบริหารจัดการเรื่องภาษี การนำระบบขายของหน้าร้าน (POS) มาใช้ เพื่อให้รู้ปริมาณสินค้าเข้าออก สต๊อกสินค้า เพื่อที่จะได้วางแผนสั่งซื้อสินค้าได้ถูกต้อง

ทั้งนี้ ยังจะผลักดันให้เป็นจุดรับชำระค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ บัตรเครดิต เพื่อให้ร้านค้ามีรายได้เสริมจากการรับชำระค่าสาธารณูปโภค การผลักดันให้ร้านค้าต้นแบบ เป็นจุดกระจายสินค้าให้กับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐรายอื่นๆ ในอำเภอและตำบล และการพัฒนาไปสู่การค้าขายออนไลน์ ด้วยการผลักดันให้ร้านค้ามีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง

ขณะเดียวกัน ได้ประสานให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยปล่อยกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับร้านค้า เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อสินค้า โดยมีสถาบันการเงินหลายแห่งให้ความสนใจ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมที่จะเข้ามาช่วยค้ำประกันให้กับร้านค้าธงฟ้าที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ส่วนในด้านการขนส่งสินค้า ได้ประสานบริษัท ขนส่ง บริษัท โลจิสติกส์ ให้เข้ามาช่วยในการรับส่งสินค้าจากผู้ผลิตมายังร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนสินค้าถูกลง และสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาถูกลงตามไปด้วย ทำให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้บริโภคทั่วไปสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูกลง และช่วยลดภาระค่าครองชีพลงได้

นอกจากนี้ จะหาทางสนับสนุนการติดป้ายไฟขนาดใหญ่ เหมือนป้ายของร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น โดยกรมฯ จะประสานไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อขอยกเว้นภาษีป้ายให้กับร้านค้า เพราะเป็นร้านที่กรมฯ สนับสนุน และจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถเข้ามาร่วมเป็นสปอนเซอร์บนป้ายด้วย

นายวิชัยกล่าวว่า กรมฯ มั่นใจว่า ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 4.0 ที่ปรับปรุงโฉมใหม่ จะดึงดูดและจูงใจให้ประชาชนอยากเข้ามาใช้บริการ เพราะสิ่งที่ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐมี ก็คือ ความเป็นชุมชน การเป็นเพื่อนบ้าน เกษตรกรและชุมชนได้มีส่วนร่วมในการนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย ซึ่งเสน่ห์ตรงนี้ ร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ หรือร้านสะดวกซื้อไม่มี

“ต่อไปคนที่เข้ามาใช้บริการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ 4.0 จะมีความรู้สึกเหมือนเข้าร้านสะดวกซื้อทั่วๆ ไป สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ชำระค่าสาธารณูปโภค แต่ที่เด่นกว่า และร้านสะดวกซื้อไม่มี ก็คือ สามารถซื้อหาสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ไม่ใช่แค่เพียงสินค้าในชุมชนที่ร้านค้าตั้งอยู่ แต่ยังมีสินค้าชุมชนจากภาคอื่นๆ เข้ามาวางจำหน่ายด้วย จากการที่กรมฯ ได้ทำการเชื่อมโยงจับคู่การจำหน่ายสินค้าข้ามภาคในช่วงที่ผ่านมา”นายวิชัยกล่าว

สำหรับร้านค้าที่สนใจสมัครเป็นร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ส่วนกลางสามารถสมัครได้ที่กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ และในต่างจังหวัดสมัครได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.dit.go.th หรือสอบถามรายละเอียดสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน