สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ชนบทและท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทรงพบเห็นราษฎรที่ยังอยู่ในภาวะยากลำบาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาพัฒนาเท่าเทียมกันทุกคน จึงมี พระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือราษฎรเหล่านั้น ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ในปี พ.ศ.2523 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงริเริ่มงานพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร และขยายโครงการพระราชดำริอื่นๆ อีกหลายโครงการ โดยได้กำหนดกรอบของการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยใช้การศึกษาเป็นหลักในการทำงานพัฒนา โดยจะเริ่มพัฒนาที่สถานศึกษาก่อน แล้วจึงขยายไปสู่ชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ทารกในครรภ์มารดา ไปจนถึงเด็กวัยเรียนและเยาวชนทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลคมนาคม ครอบคลุมสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งปัจจุบันมีสถานศึกษาเป้าหมายในโครงการกว่า 800 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ 50 จังหวัดทั่วประเทศ

กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีหน้าที่จัดการศึกษาและให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยจัดแผนบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดนโยบายด้านการศึกษา มุ่งเน้นพัฒนาการให้บริการทางการศึกษา ตั้งแต่การศึกษาภาคบังคับจนถึงระดับมัธยมศึกษา ทั้งในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัยให้มีคุณภาพมาตรฐาน จัดหลักสูตรที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน โดยสำนักการศึกษาเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้น้อมรับกระแสพระราชดำรัส ในการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำแนวพระราชดำริมาใช้ในการพัฒนาโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การกิน และการตัดสินใจในการเลือกอาหารที่เหมาะสม มีการออกกำลังกายสร้างเสริมสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง จัดกิจกรรม ด้านการเกษตรเพื่อการเรียนรู้เน้นการทำเกษตรปลอดสารพิษ และนำผลผลิตที่ได้เข้าโครงการอาหารกลางวัน มีความรู้ ส่งเสริมศักยภาพ นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกิจกรรมสหกรณ์เพื่อการเรียนรู้แบบครบวงจร เพื่อฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้ระบบสหกรณ์ อันเป็นรากฐานที่สำคัญในการส่งเสริมคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ส่งเสริมการทำงานกลุ่ม รู้จักการประหยัดและการออม ก่อให้เกิดทักษะชีวิตเพื่อวิถีชีวิตที่ดีอย่างบูรณาการและต่อเนื่อง

ในพื้นที่ กทม.มีโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 25โรงเรียน เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย 1.โรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์เขตบางขุนเทียน 2.โรงเรียนหมู่บ้านเกาะโพธิ์เขตบางขุนเทียน 3.โรงเรียนบ้านแบนชะโดเขตคลองสามวา 4.โรงเรียนสุเหร่าเกาะขุนเณร เขตคลองสามวา 5.โรงเรียนวัดสีชมพูเขตหนองจอก 6.โรงเรียนศิริวังวิทยาคารเขตหนองจอก 7.โรงเรียนสุเหร่าลำแขก เขตหนองจอก 8.โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์เขตมีนบุรี 9.โรงเรียนวัดเกาะสุวรรณารามเขตสายไหม 10.โรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์เขตประเวศ 11.โรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ เขตบางนา 12.โรงเรียนวัดปลูกศรัทธาเขตลาดกระบัง 13.โรงเรียนบำรุงรวิวรรณเขตดอนเมือง 14.โรงเรียนเคหะทุ่งสองห้องวิทยา1 เขตหลักสี่ 15.โรงเรียนวัดปุรณาวาสเขตทวีวัฒนา 16.โรงเรียนวัดอินทราวาสเขตตลิ่งชัน 17.โรงเรียนวัดศรีนวลธรรมวิมล เขตหนองแขม 18.โรงเรียนพรหมราษฎร์รังสรรค์ เขตบางบอน 19.โรงเรียนคลองหนองใหญ่ เขตบางแค 20.โรงเรียนประภาสวิทยา เขตบึงกุ่ม 21.โรงเรียนวัดบึงทองหลาง เขตบางกะปิ 22.โรงเรียนลอยสายอนุสรณ์ เขตลาดพร้าว 23.โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง 24.โรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญเขตห้วยขวาง และ 25.โรงเรียนวัดสิตาราม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา โรงเรียนที่เข้าร่วมนโครงการสามารถจัดการเกษตร เพื่อการเรียนรู้และสร้างสิ่งแวดล้อม สามารถให้บริการอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สะอาดปลอดภัย และเฝ้าระวังทางโภชนาการสุขาภิบาลให้กับเด็กนักเรียน พัฒนาทักษะของนักเรียนในด้านการกิน และตัดสินใจเลือกซื้อที่เหมาะสม พัฒนาการเคลื่อนไหว และออกกำลังกายของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมศักยภาพการทำงานเป็นกลุ่มในด้านสหกรณ์ การออมเพื่อวิถีชีวิตที่พอเพียง และบูรณาการในทุกกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 กรกฎาคม 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และเผยแพร่พระราชกรณียกิจ ด้านการศึกษา และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน
  2. เพื่อส่งเสริม พัฒนาแนวความคิดให้กับบุคลากร ครู และผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริฯ และเพื่อให้บุคลากร ครู และผู้ปฏิบัติงานได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และร่วมกันกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาและร่วมกันพัฒนากระบวนการทำงานโครงการตามพระราชดำริ ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษานั้นๆ

โดยการประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ภายในงานยังมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “นวัตกรรมอาชีพ…สร้างงาน สร้างรายได้”และการนำเสนอผลงานวิชาการแนวปฏิบัติที่ดี ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านโภชนาการและสุขภาพอนามัย 2. ด้านการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา (ภาษาไทย) 3.ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 4.ด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น 5.ด้านคุณธรรมจริยธรรม และ 6. ด้านการส่งเสริมอาชีพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน