เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และประชาชนได้รับความสะดวก มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กทม. จึงได้ใช้มาตรการเข้มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบทางเท้า โดยนำร่อง 1 เขต 1 ถนน จัดระเบียบทางเท้า 50 เขต โดยการยึดหลัก 5 ไม่ เพื่อสร้างทางเท้าที่สวยงาม เป็นพื้นที่ให้ประชาชนเดินสัญจรได้สะดวกและปลอดภัยมากที่สุด โดยจะมีการพัฒนาด้านกายภาพ ปรับปรุงภูมิทัศน์ สร้างวัฒนธรรมการใช้ทางเท้า และรักษาสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยหลักตามมาตรการ “5 ไม่” ประกอบด้วย

1.ไม่มีการติดตั้งป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย หรือการลักลอบติดตั้งป้ายโฆษณาป้ายประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
2.ไม่มีการตั้งวางสิ่งของใดๆ กีดขวางทางเท้า
3.ไม่มีขยะสิ่งปฏิกูลใดๆ บนทางเท้า
4.ไม่มีแผงค้าผิดกฎหมายหรือลักลอบตั้งวางโดยไม่ได้รับอนุญาต
5.ไม่มีการจอดรถหรือขับขี่บนทางเท้า

นอกจากนี้ ทาง กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่นำรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง พร้อมด้วยรถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 2 ล้อ (Seg Way) ออกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ หรือเป้าหมายที่กำหนดในแผนการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่ – แผงลอย เพื่อคืนทางเท้าให้แก่ประชาชน สถานศึกษา สถานที่จัดกิจกรรม และโครงการอื่นของกรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่ขอรับการสนับสนุนโดยให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ และการดำเนินการของกรุงเทพมหานครในด้านการจัดระเบียบเมืองโดยเฉพาะตามโครงการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่ – แผงลอย เพื่อคืนทางเท้าให้แก่ประชาชนซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจอันดีกับประชาชนกรุงเทพมหานครให้รู้จักสิทธิและหน้าที่อันพึงปฏิบัติ รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายของกรุงเทพมหานครและส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตอบรับที่จะดำเนินการโดยทันที พร้อมมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปร่วมพูดคุยกับนักวิชาการเกี่ยวกับแนวทางและข้อเสนอแนะ เพื่อพิจารณากำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะดำเนินการอย่างไรหากมีการค้าขายบนทางเท้าอีกและประชาชนจะสัญจรอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ผู้ว่าฯ กทม. เห็นว่าการค้าแผงลอยนั้นเป็นเรื่องดีในหลายมิติ แต่จะทำอย่างไรไม่ให้การตั้งแผงค้าไปรบกวนสิทธิของผู้ใช้ทางเท้า เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันเพื่อหาแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งเห็นใจทั้งผู้ค้า 7,500 รายที่ได้รับผลกระทบ และผู้ใช้ทางเท้า 3-4 ล้านคน จึงต้องการให้จัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ว่าต้องการจะให้มีหาบเร่แผงลอยหรือไม่

ทั้งนี้ กทม. มีนโยบายชัดเจนแล้วว่าพื้นที่ที่ กทม. จัดระเบียบไปแล้วผู้ค้าไม่สามารถกลับมาทำการค้าได้อีก แต่ กทม. จะหาแนวทางช่วยเหลือผู้ค้าในจุดที่ได้จัดระเบียบไปแล้ว โดยเฉพาะจุดใหญ่ เช่น ที่ย่านอโศก สะพานพุทธ โดยจะพิจารณาจัดหาที่ เช่น พื้นที่ของกรมธนารักษ์ พื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อให้ผู้ค้าใช้เป็นพื้นที่ทำการค้าทดแทนกัน

โดยก่อนหน้านี้ กทม. ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเพื่อหารือถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบทางเท้า หาบเร่แผงลอย และการขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้าให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นแนวทางที่ใช้ได้อย่างยั่งยืน สร้างความเท่าเทียม โดยมี 2 ประเด็นหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยที่ต้องพิจารณา คือ 1. กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย 2.สถานที่ใดสามารถกำหนดให้เป็นจุดผ่อนผันได้ ซึ่งจะหารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน

ส่วนเรื่องของการคืนพื้นที่ทางเท้าให้กับชาว กทม. มีเรื่องที่ต้องทำอยู่หลายด้าน โดยเรื่องสำคัญอันดับแรก คือ เรื่องทางกายภาพ จะเห็นได้ว่าทางเท้าในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน บางแห่งแคบมากจนเดินสวนกัน ไม่ได้ ต้องลงมาเดินบนถนน ทั้งๆ พื้นที่ถนนก็มีความกว้างมากพอ ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การปรับปรุงทางเท้าทั้งระบบให้มีมาตรฐาน เดินได้สะดวก ไม่เป็นหลุม เป็นบ่อ และไม่มีสิ่งกีดขวาง รวมถึงการไม่ให้ความสำคัญกับการใช้รถยนต์มากจนเกินไปนัก ซึ่งก็ต้องดูในเรื่องของ ความพอเหมาะพอควร

นอกจากการจัดระเบียบทางกายภาพให้ทางเท้าอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ลดความสำคัญของการใช้รถยนต์ เพื่อให้คนใช้ทางเท้าในการเดินมากขึ้นแล้ว การจัดการดูแลและควบคุมก็เป็นเรื่องสำคัญซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานก่อสร้างและบูรณะก็จะเข้าไปดูแลการก่อสร้างสำรวจตรวจสอบ บำรุงรักษา ซ่อมแซมและบูรณะถนน ตรอก ซอย ทางเท้า คันหิน รางตื้น ทางยกระดับและสะพานต่างๆ โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นเขตพื้นที่ไป

ขณะเดียวกัน ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ในการขอใช้ข้อมูลทางทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เพื่อให้ทราบถึงเจ้าของ ผู้ครอบครองที่กระทำความผิดจอดหรือขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์บนทางเท้า เพื่อมาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยดำเนินการเชื่อมโยงกับกล้องวงจรปิด (CCTV) ที่สำนักการจราจรและขนส่งเป็นผู้ติดตั้ง คาดว่าจะสามารถใช้งานได้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

นอกจากนั้น ยังบูรณาการแก้ปัญหาขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้าร่วมกับทุกภาคส่วน ประกอบด้วย กองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต และสถานีตำรวจนครบาลท้องที่ รวมทั้งหน่วยทหารในพื้นที่ ในการบูรณาการแก้ปัญหาขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้า จำนวน 7 จุด ดังนี้ บริเวณถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง บริเวณถนนรัชดาภิเษก เขตจตุจักร บริเวณถนนพระราม 4 เขตคลองเตย บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เขตราชเทวี บริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย บริเวณสี่แยกอโศก หน้าห้างสรรพสินค้า Terminal 21 เขตวัฒนา โดยการให้เจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตั้งโต๊ะเป็นจุดจับ-ปรับนอกสถานที่เป็นประจำในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น เพื่อตรวจตรากวดขันเฝ้าระวังไม่ให้มีการกระทำความผิดทุกชนิดบนทางเท้าตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 โดยขณะนี้ มีการตั้งโต๊ะเป็นจุดจับปรับรวมกว่า 230 จุดในแนวถนนสายหลัก สายรองต่างๆ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่รถส่วนบุคคลที่ควรต้องใช้เส้นทางขับขี่อย่างเหมาะสมและไม่สร้างความเดือดร้อนต่อสิทธิในการใช้พื้นที่สาธารณะของประชาชนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งตามกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อนของบ้านเมืองพ.ศ.2535 นั้น การขับขี่รถบนทางเท้ามีความผิดโทษจับปรับได้ไม่เกิน 5,000บาท โดยที่ผ่านมาการตั้งโต๊ะจับปรับของ กทม.เริ่มต้นการปรับเพื่อตักเตือนในอัตรา 500 บาทต่อการกระทำความผิดในครั้งนั้นๆ แต่จากนี้ จะมีการจับปรับในอัตราที่สูงขึ้นเมื่อมีการขับขี่บนทางเท้าเป็น 1,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งหากประชาชนที่ส่งภาพถ่ายร้องเรียนมายังช่องทางของ กทม. ก็จะได้รับส่วนแบ่งครึ่งหนึ่งด้วย ทั้งนี้ หวังว่าประชาชนที่เห็นถึงการกระทำผิดจะเกรงกลัวกฎหมายและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเคารพสิทธิของผู้อื่นมากยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน