(20 สิงหาคม 2562) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดกิจกรรมสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีและนิทรรศการผลงานวิจัยกลุ่มเรื่องพืชสวน/พืชไร่ฯ “ปลดล็อคนวัตกรรมเกษตรไทย เพื่อผลผลิตที่ก้าวไกลอย่างยั่งยืน” และจัดลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi)” ระหว่าง สวก. และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงแนวทางการสนับสนุนกิจกรรมด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ณ ห้องแกรนด์บอลรูม (Grand ballroom) โรงแรมรามาการ์เด้นส์ หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ (สวก.) และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมลงนาม

ดร. สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารทุนวิจัยมุ่งเป้าเพื่อตอบสนองความต้องการ ในการพัฒนาประเทศโดยเร่งด่วน : กลุ่มเรื่องพืชสวน/พืชไร่ (เช่น ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และข้าวโพด) ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้มีผลงานวิจัยที่สำเร็จจนได้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่พร้อมเผยแพร่ เพื่อส่งเสริมและผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงสาธารณะ และเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ในการบริหารจัดการและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจหรือใช้ในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อไป

การจัดกิจกรรมสัมมนาเปิดตัวเทคโนโลยีและนิทรรศการผลงานวิจัยกลุ่มเรื่องพืชสวน/พืชไร่ฯ ทั้งในเชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะ ในวันนี้มีผลงานวิจัยไม่น้อยกว่า 15 โครงการ โดยมีผลงานไฮไลท์ เช่น 1) กล้วยไม้ลูกผสมฟาแลนนอฟซิสชนิดใหม่ 2) การปรับปรุงพันธุ์แตงกวาและฟักทองในระบบอินทรีย์ 3) หุ่นยนต์ฉีดพ่นทุเรียน 4) เครื่องคัดขนาดเมล็ดกาแฟ 5) บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะชนิดอินดิเคเตอร์ความสดของผักสลัด 6) เครื่องวัดความแก่-สุกของผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และ7) ชุดตรวจคัดแยกมะละกอปลอด GM ในระยะต้นกล้าและผล เป็นต้น อีกทั้งยังมีการเสวนา เรื่อง “ศักยภาพและการยอมรับเทคโนโลยีจากงานวิจัย : ใช้ไม่ได้หรือใช้ไม่ถูก” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำผลงานวิจัยของ สวก. ไปใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดแรงจูงใจในการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมจากผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจได้จริง

ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สวก. กล่าวต่อไปว่า ในงานดังกล่าวได้จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานวิจัยโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเพื่อรองรับการต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่การสร้างรูปแบบการขับเคลื่อนธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูปอย่างยั่งยืนภายใต้บริบทของประเทศไทย รุ่นที่ 2” ระหว่าง สวก. และภาคเอกชนผู้ผลิตและแปรรูปอาหาร จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท หอมดี จำกัด /บริษัท พรทิพย์ (ภูเก็ต) จำกัด/บริษัท มังกี้เชค จำกัด/บริษัท แพนโทริ เค จำกัด/บริษัท ภาขจรฟู้ด จำกัด/ บริษัท ไฟฟ์นิวทริชั่น จำกัด และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) ระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สวก. เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรและกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ รวมถึงยกระดับขีดความสามารถด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์ทุกภาคส่วนต่อไป

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ซึ่ง EECi มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพซึ่งนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา) เป็นประธานในพิธีเปิดหน้าดินเพื่อเริ่มการก่อสร้าง EECi Phase 1A เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา โดยการก่อสร้างเป็นไปตามแผนและมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2564 หรือด้านการเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลผลิตจากภาคเกษตรกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะมี BIOPOLIS เป็นเมืองนวัตกรรมหลักในการขับเคลื่อน โดยในการเตรียมความพร้อมนี้ ให้ความสำคัญในการบูรณาการตลอดห่วงโซ่อุปทาน และทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการพัฒนาโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี (Biorefinery) ระดับขยายขนาดที่ใกล้เคียงกับระดับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมรองรับวัตถุดิบและการผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้มาตรฐาน GMP และ Non GMP การพัฒนาระบบ Plant Factory และโรงเรือนปลูกพืชที่ติดตั้งระบบ High throughput Phenotyping เพื่อให้บริการการวิจัยด้านสรีรวิทยาในเชิงลึกและการตอบสนองของพืชต่อสภาวะความเครียดในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเป็นแหล่งสร้างและบ่มเพาะบุคลากรร่วมกับสถาบันการศึกษา โดยการจัดตั้งระบบต้นแบบทั้ง Plant Factory และ High throughput Phenotyping ไว้ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ก่อนเพื่อเร่งพัฒนาองค์ความรู้และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็น ก่อนขยายผลไปสู่ที่ EECi ในอนาคต

นอกเหนือจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าว EECi ยังมีกิจกรรมการสาธิตและถ่ายทอดเทคโลยีเกษตรสมัยใหม่สำหรับชุมชนในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ โดยทำงานร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เพื่อยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของชุมชนใน EEC รวมถึงการจัดการหลักสูตรการเรียนรู้ด้านเกษตรสมัยใหม่ให้กับเยาวชนในโรงเรียนในพื้นที่ เป็นต้น

สำหรับการลงนามความร่วมมือ “การสนับสนุนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi)” และ ความร่วมมือ “โครงการพัฒนาแผนที่นำทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ระหว่าง สวทช. และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะร่วมกันพัฒนา EECi เพื่อตอบโจทย์ภาคการเกษตรและกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ โดยการสนับสนุนและยกระดับการวิจัยพัฒนา ต่อยอดและขยายผลนวัตกรรมด้านการเกษตรสมัยใหม่ออกไปสู่เชิงพาณิชย์ การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยการเกษตร รวมถึงการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งระดับต้นแบบที่อุทยานวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ และ EECi ร่วมกัน ตลอดจนพัฒนาแพลตฟอร์มสำคัญเพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกรและชุมชน และผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สวก. และ สวทช. ดังกล่าว จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมด้วย “โครงการพัฒนาแผนที่นำทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” เพื่อเป็นเครื่องมือนำร่องในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การพัฒนากำลังคน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำในประเทศไทยเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยความร่วมมือและโครงการนำร่องในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดการขยายผลอย่างกว้างขวาง เกิดการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ต่อการส่งเสริม สนับสนุนการขับเคลื่อนภาคเกษตรกร อุตสาหกรรม ชุมชน ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน