ความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของเกษตรกรที่รับน้ำจากเขื่อนดอยงู อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นแรงบันดาลใจสำหรับหลายคน

รวมทั้ง ผศ.มาโนช โพธาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เขื่อนดอยงู มีความจุอ่างเก็บน้ำ 7.6 ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างปิดกั้นลำน้ำเจดีย์ ท้ายเขื่อนในลำน้ำเจดีย์ ประกอบด้วยฝายชะลอน้ำหน้าวัดเจดีย์ใหม่ 13 จุด ฝายชุ่มเมืองเย็น จากนั้นลำน้ำเจดีย์ไหลลงสมทบแม่น้ำแม่ลาว และยังมีฝายต่อเนื่องอีก 3 ตัว ประกอบด้วย ฝายหนองหอย ฝายพ่อขุน และฝายโป่งนก ที่อยู่ห่างเขื่อนกว่า 10 กิโลเมตร

การบริหารจัดการน้ำที่นี่มีปัญหาโดยตลอด โดยเฉพาะในฤดูแล้งเกิดความขัดแย้งแย่งชิงน้ำในแต่ละช่วงฝาย โดยฝายโป่งนกเป็นฝายรับน้ำตัวสุดท้ายไม่ได้รับน้ำเลยนับสิบปี

กรมชลประทานใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ผลักดันการบริหารจัดการน้ำผ่านรูปแบบการจัดเวทีชาวบ้านนับร้อยๆ ครั้ง และแสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จึงค่อยเห็นผลสำเร็จเป็นลำดับ

ความสำเร็จที่ว่าคือ การสร้างให้เกษตรกรรู้สึกเป็นเจ้าของเขื่อน เจ้าของน้ำ เจ้าของฝายร่วมกัน และบริหารจัดการน้ำร่วมกันภายใต้กระบวนคิดเดียวกันและความเอื้ออาทรที่ยังมีเยื่อใยต่อกัน

ทุกวันนี้ ทุกพื้นที่รับน้ำของฝายต่างๆ จากบนสุดถึงล่างสุด ต่างได้รับน้ำทั่วถึง แบ่งปันกัน จัดรอบเวรส่งน้ำ ใช้เทคนิคประหยัดน้ำ ความเข้มแข็งนี้ส่งผลให้โครงการดอยงูได้รับรางวัลเลิศรัฐจากคณะกรรมการพัฒนาข้าราชการพลเรือน (กพร.)

เป็นจุดสนใจของ ผศ.มาโนช เข้าไปวิจัยถอดบทเรียนดอยงูด้วยทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และยังได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการนำดอยงู โมเดล มาใช้ในพื้นที่โครงการฝายแม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเช่นกัน

“ ปัญหาคล้ายกัน ฤดูแล้งน้ำขาดแคลน แต่ขนาดของพื้นที่เกี่ยวข้องอาจมากกว่าดอยงูและซับซ้อนกว่า” รศ.มาโนช กล่าว

ซับซ้อนกว่า เพราะดอยงูเป็นความขัดแย้งของคนอาชีพเดียวกันคือเกษตรกร แต่แม่แตงในบริบทที่เป็นอยู่ นอกจากเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังมีการนำน้ำไปใช้ในตัวเมืองเชียงใหม่ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว และการรักษาระบบนิเวศในคลองแม่ข่าที่ประสบปัญหาเน่าเสียรุนแรง

“การมีภาคเมืองเข้ามาใช้น้ำร่วมด้วยนั้น น้ำที่มีน้อยอยู่แล้วในฤดูแล้งก็ยิ่งน้อยลง เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ของเกษตรกรและความพยายามลดการใช้น้ำโดยการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เป็นปัญหาภูเขาน้ำแข็งที่น่ากังวลอยู่”

การแก้ไขปัญหานี้ ผศ.มาโนช กล่าวว่า ต้องให้กลุ่มที่มีส่วนได้-เสียในพื้นที่ฝายแม่แตงร่วมกันแก้ไขปัญหา ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีความหลากหลายกว่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ

“กลุ่มคนในแม่แตง อยากทำการมีส่วนร่วมแบบดอยงูในการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาความขัดแย้งลง ขอให้ช่วยเหลืออบรมให้ ซึ่งสะท้อนว่าแม่แตงมีปัญหาไม่น้อย”

รศ.มาโนช กล่าวว่า การนำรูปแบบการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำของดอยงู โมเดล มาปรับใช้ที่ฝายแม่แตงนั้น ยังไกลเกินกว่าที่จะคิดถึงความสำเร็จ เพราะปัญหาซับซ้อนกว่า แต่ด้านหนึ่งการเริ่มต้นทำเท่ากับเป็นการจุดประกายความคิดของคนในพื้นที่ให้ลุกขึ้นมาศึกษาเรียนรู้ปัญหาและร่วมแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำด้วยชุมชนอย่างจริงจังตามมา

การบริหารจัดการน้ำหรือการอื่นใด ยากนักที่จะประสบความสำเร็จได้ หากคนในชุมชนไม่มีส่วนร่วม การเริ่มต้นกระบวนการมีส่วนร่วมของฝายแม่แตง จ.เชียงใหม่ จึงเป็นก้าวแรกของคำตอบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน