สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงาน “เปิดบ้าน วช. 5 G : Change for the future” (ภาคเหนือ) ที่โรงแรมวังจันทร์ ริเวอร์วิว จังหวัดพิษณุโลก

ศ.นพ.ดร. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า จากการที่ วช. ได้จัดงาน Open House “เปิดบ้านวิจัย” ในพื้นที่ภาคกลาง (กรุงเทพฯ) ภาคใต้ (จังหวัดสงขลา) และภาคเหนือ (จังหวัดพิษณุโลก) เพื่อชี้แจงให้กับบุคลากร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เข้าใจถึงบทบาทและทิศทางการดำเนินงานในด้านต่างๆ โดย วช. ได้ปรับวิธีการให้ทุนเชิงรุก เพื่อนำไปสู่การบรรลุผลตามประเด็นยุทธศาสตร์และแผนแม่บทของประเทศ ซึ่งภายหลังจากที่ วช. ได้มีการประกาศกรอบการให้ทุนการวิจัยและนวัตกรรม 4 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาเศรษฐกิจ 2) การส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 3) การพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม 4) การวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเชิงนโยบาย งานวิจัยพิเศษและเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ปรากฏว่านักวิจัยมีความกระตือรือร้นให้ความสนใจในการเสนอหัวข้อวิจัยเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว เฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือมีการเสนอโครงการวิจัยเข้ามามากกว่า 600 โครงการโครงการที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเป็นโครงการวิจัยด้านคุณภาพชีวิต การพัฒนาสุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชน โครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี โดยมีการกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเป็นไปตามกรอบและทิศทางการวิจัยที่วางไว้ 4 ด้านคือ 1) การวิจัยเพื่อพัฒนาคนและสถาบันความรู้ 2) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม 3) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ 4) การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ จากการประเมินหัวข้อการวิจัยที่นำเสนอเข้ามาในเบื้องต้นจะพบว่าทิศทางการวิจัยของประเทศไทยถูกยกระดับขึ้นทั้งในแง่ของงบประมาณที่เพิ่มขึ้น การพัฒนากำลังคนและเส้นทางอาชีพของนักวิจัย ประเด็นที่นำเสนอเพื่อวิจัยก็มีการยกระดับทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ในส่วนของนักวิจัยก็ให้ความสนใจนำเสนอประเด็นการทำงานสำคัญของประเทศ จะเห็นได้จากโครงการที่นำเสนอเข้ามา เป็นโครงการที่มุ่งเป้าไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และทิศทางหลักของประเทศ เกิดความร่วมมือระหว่างบุคลากรในพื้นที่ต่อการมีส่วนร่วมในการวิจัย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดมาให้ความสนใจ ช่วยวางกรอบการวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น และสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนคือ มีการร่วมกลุ่มระหว่างนักวิจัยในพื้นที่กับนักวิจัยต่างพื้นที่ เพื่อนำเสนอประเด็นการวิจัยที่เป็นปัญหาเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น

ผู้อำนวยการ วช. กล่าวว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนว่าการวิจัยของไทยถูกยกระดับไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีเป้าหมายในการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในแนวทางที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ของประเทศ ในส่วนของ วช. จะดำเนินการในสองประเด็นคือ ประเด็นแรก การประสานงานในเชิงนโยบายนำเอาความต้องการของนักวิจัยและข้อมูลผลงานวิจัยของประเทศนำเสนอ เพื่อกำหนดและพิจารณาทิศทางและงบประมาณของประเทศ ประเด็นที่สอง วช. จะทำงานกับนักวิจัย กลุ่มวิจัย มหาวิทยาลัยต่างๆ หน่วยงานที่ทำการวิจัย เพื่อให้เห็นว่า นอกเหนือจากการได้รับการวิจัยแล้ว จะมีกลไกในการขับเคลื่อน ติดตามการประเมินผลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน