ทัพเรือจัดส่งเรือผลักดันน้ำ 25 ลำ เร่งระบายน้ำพื้นที่จ.สกลนคร

ทัพเรือจัดส่งเรือผลักดันน้ำ 25 ลำ – พล.ร.ท.กาญจน์ ดีอุบล เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ เป็นประธาน ในพิธี ส่งรถลำเลียงเรือผลักดันน้ำจำนวน 25 ลำ เดินทางจากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ. ไปผลักดันน้ำที่จังหวัดสกลนคร โดยพิธีส่งขบวนรถจัดขึ้นที่ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ. ตำบล แหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

โดยจังหวัดสกลนครได้รับผลกระทบจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนนอกจากนั้นยังได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อนฝุ่นในช่วงระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม 2562 และพายุดีเปรสชันคาจิกิทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากมีลมกระโชกแรงน้ำท่วมฉับพลันและไหลหลาก ต้นไม้หักโค่นทับบ้านเรือนส่งผลให้เกิดอุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่หลายอำเภอ

นำมาซึ่งความเดือดร้อนของประชาชนเป็นจำนวนมาก การบริหารจัดการน้ำในภาพ รวมทั้งจังหวัดโดยเฉพาะระดับน้ำหนองหาร มีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการคลองระบายน้ำจากหนองหารลงสู่ลำน้ำก่ำซึ่งมีความคดเคี้ยวให้ออกไปสู่แม่น้ำโขงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ “บิ๊กลือ” พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้ มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัย

จึงได้ สั่งการอย่างเร่งด่วนให้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เตรียมเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือให้มีความพร้อม ตลอดจนลำเลียงเรือผลักดันน้ำจำนวน 25 ลำ พร้อมกำลังพล ไปยังจังหวัดสกลนคร ตามที่ได้รับการร้องขอจาก นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ในการเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ทานทางลำน้ำก่ำ โดยเรือผลักดันน้ำทั้ง 25 ลำ จะลำเลียงออกจากอู่ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้าในช่วงเย็น วันนี้ และคาดว่าจะเดินทางถึงจังหวัดสกลนครในวันพรุ่งนี้

สำหรับ เรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และจากองค์ความรู้ ในการสร้างเรือผลักดันน้ำ ที่คงมีอยู่ทำให้ กองทัพเรือสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ในปี 2554

ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์ เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น 3 ขนาด คือขนาด 320 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 150,000 ลูกบาศก์เมตร/วันขนาด 220 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 100,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และขนาด 120 แรงม้า ผลักดันน้ำได้ 30,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก

เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน