ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงพยาบาลรัฐขนาดเล็กในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เปิดทำการครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2551 ถึงแม้จะเพิ่งให้บริการประชาชนไม่นานนัก แต่ได้สร้างประโยชน์นานัปการให้กับสังคม

“ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก” กับการเป็นมากกว่าโรงพยาบาล

ด้วยพันธกิจที่หลากหลายทำให้ศูนย์การแพทย์ฯแห่งนี้เป็นมากกว่าโรงพยาบาลทั่วไป เพราะนอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นสถานที่ฝึกอบรมขั้นสูงสำหรับนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดการเรียนการสอนด้วยประสบการณ์จริง เน้นการเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน โดยมีอาจารย์แพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชมาสอนอย่างใกล้ชิด ส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดแรงบันดาลใจในการดูแลคนไข้ จากต้นแบบที่ดีจากอาจารย์ รวมถึงช่วยดูแลชุมชนใกล้เคียง เพิ่มการอบรมให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นได้อย่างถูกวิธี อีกทั้งมีพันธกิจในด้านงานวิจัย ซึ่งจะเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยมาประกอบการวิจัย เพื่อนำไปพัฒนาการบริการให้ดียิ่งขึ้น

จาก “ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก” สู่ “ศิริราช-กาญจนา”

เดิมศูนย์การแพทย์ฯ อยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นการให้บริการด้านทันตกรรม การป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการแพทย์แผนเอเชีย จนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 สภามหาวิทยาลัยมหิดลได้มีมติให้ศูนย์การแพทย์ฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขยายการรักษาให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยใช้ชื่อ “ศิริราช-กาญจนา” โรงพยาบาลลำดับที่สามของคณะแพทย์ฯ

ความร่วมมือครั้งใหญ่ ก้าวใหม่ของศูนย์การแพทย์ฯ

การรวมกันของทั้งสององค์กรนับเป็นการทำหน้าที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เพียงแค่การขยายสถานที่ บุคลากร หรืออุปกรณ์ในการรองรับผู้ป่วย แต่จะพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย โดยไม่ต้องไปไกลถึงโรงพยาบาลศิริราช กล่าวคือโรงพยาบาลศิริราชซึ่งอยู่ภายใต้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีการรักษาแบบตติยภูมิ (อาการรุนแรง/ซับซ้อน) และมีพันธกิจในการให้บริการต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่สาธารณสุขเขต 5 (นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และประจวบคีรีขันธ์) ในขณะที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก ให้บริการทางการแพทย์ทั่วไปและการรักษาเฉพาะทางระดับทุติยภูมิ ประกอบกับสถานที่ตั้งอยู่ระหว่างโรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลในเขตภาคใต้ตอนบน การรวมกันจึงจะทำให้เกิดการพัฒนาการรักษาพยาบาลและการเชื่อมต่อการให้บริการระบบสาธารณสุขอย่างไร้รอยต่อและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการเรียนการสอนและการฝึกอบรม รวมถึงพัฒนาระบบการบริหารโรงพยาบาลแบบองค์รวม เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วยให้ได้รับบริการอย่างเท่าเทียมและครบวงจร

โครงการพัฒนาอาคารส่วนขยายศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกระยะที่ 2

ในการร่วมมือครั้งสำคัญครั้งนี้ ศูนย์การแพทย์ฯได้เดินหน้าพัฒนาสิ่งสำคัญมากมาย อาทิ ปรับรูปแบบการให้บริการเพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วย โดยขยายเวลาการให้บริการห้องฉุกเฉินเป็น 24 ชั่วโมง และริเริ่มโครงการพัฒนาอาคารส่วนขยายศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกระยะที่ 2 ขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางที่ไม่ซับซ้อนในเขตพื้นที่นี้ได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 350,000 คนต่อปี หากการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากถึง 700,000 คนต่อปี โดยโครงการเริ่มดำเนินงานไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 มีกำหนดแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 และจะเปิดใช้บริการได้อย่างเต็มพื้นที่ในปี 2566 มีรายละเอียดสำคัญดังนี้

  1. เพิ่มจำนวนห้องตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) จาก 50 ห้อง เป็น 100 ห้อง
  2. เพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยในจาก 60 เตียง เป็น 200 เตียง
  3. เพิ่มไอซียู-ศัลยกรรม 8 ห้อง
  4. ขยายพื้นที่สำหรับรังสีวินิจฉัย
  5. เพิ่มศูนย์ล้างไตเป็น 40 เตียง เพื่อให้รองรับผู้ป่วยได้ 120 คนต่อวัน
  6. สั่งซื้อเครื่องไฮเปอร์แบริค (เครื่องรักษาด้วยออกซิเจนแรงดันสูง)
  7. เตรียมเปิดให้บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการการนอนกรน (Sleep Lab)
  8. เตรียมพร้อมเพิ่มเติมแผนกสูติศาสตร์ (ทำคลอด) เพื่อให้บริการครอบคลุมยิ่งขึ้นภายในอนาคตอันใกล้

จาก “ต้นกล้าศิริราช” เติบโตสู่ “ร้อยกิ่ง แสนก้าน ล้านใบ”

เมื่อต้องดำเนินการขยายพื้นที่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ศูนย์การแพทย์ฯ จึงจำเป็นต้องมีจำนวนทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อให้บรรลุตามจุดประสงค์ที่งตั้งไว้ ในเรื่องของทรัพยากรบุคคลนั้น ได้มีมาตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ และเตรียมการเพิ่มของอัตรากำลัง ซึ่งต้องสรรหาเพิ่มอีกกว่า 200 คน โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลศิริราช รวมถึงมีการทำ MOU ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และจากภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลการสมัครงานได้ทาง muhr.mahidol.ac.th

ทางด้านของงบประมาณการก่อสร้างและจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ต้องใช้งบรวมทั้งสิ้น 850 ล้านบาท โดยเบื้องต้นได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลและจากภาคเอกชนเป็นเงินจำนวนกว่า 500 ล้านบาท และยังคงเหลือในส่วนที่ต้องระดมทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 350 ล้านบาทจึงจะเพียงพอ

ซึ่งในปีนี้ศูนย์การแพทย์ฯ มีแผนการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องด้วยแคมเปญ จาก “ต้นกล้าศิริราช” เติบโตสู่ “ร้อยกิ่ง แสนก้าน ล้านใบ” เพื่อแสดงให้เห็นว่าน้ำใจจากคนไทยจะช่วยทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ให้กับคนจำนวนมาก สำหรับผู้ที่สนใจเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวดีๆของศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก

สำหรับผู้สนใจ ร่วมสมทบทุนสร้างอาคารส่วนขยายศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ระยะที่ 2 บริจาคได้ที่

1. ศิริราชมูลนิธิ กองทุนสร้างอาคารส่วนขยายศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
ธนาคารกรุงเทพ เลขที่บัญชี 901-7-05611-1
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 016-453695-1

2. งานการคลัง ชั้น 4 ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 316-304130-9

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานกิจกรรมพิเศษและสิทธิประโยชน์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก
โทร. 0 2849 6799 วันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00-16.00 น.

“เอกชนช่วยรัฐบาล” แนวคิดเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากการพัฒนาคุณภาพการรักษา พัฒนาบุคลากรและการระดมทุนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ศูนย์การแพทย์ฯ กำลังเดินหน้าผลักดันอย่างเต็มกำลัง คือ ระบบเอกชนช่วยเหลือรัฐบาล ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐบาลมากยิ่งขึ้น โดยร่วมกันสนับสนุนเงินทุนพร้อมสร้างกระบวนการรักษาที่ได้มาตรฐาน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย อันจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก อีกหนึ่งความภูมิใจที่ศิริราชมอบให้แผ่นดิน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน