กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมขับเคลื่อน “มาเรียมโปรเจกต์” เตรียมจัดงาน “วันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง แห่งชาติ ประจำปี 2562” ผนึกกำลังชุมชนลดปริมาณขยะ เน้นย้ำทุกฝ่ายช่วยกันดูแลแหล่งน้ำในพื้นที่ของตน พร้อมโชว์การจัดการขยะของชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ภายใต้แนวคิด “คืนน้ำใสให้ฝูงปลา คืนชีวาให้ชุมชน”
วันนี้ (11 กันยายน 2562) ณ กรมทรัพยากรน้ำ นายเสน่ห์ สาธุธรรม รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวการจัดงาน “วันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง แห่งชาติ ประจำปี 2562” โดยกำหนดจัดกิจกรรมในวันที่ 20 กันยายน 2562 ณ วัดปลายนา ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
นายเสน่ห์ สาธุธรรม รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ กรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จึงได้ดำเนินการจัดงานวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี ซึ่งการจัดกิจกรรมในปีนี้ จะมีความแตกต่างจากปีที่ผ่านๆมา โดยแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของชุมชนวัดปลายนา ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีการบริหารจัดการขยะ และดูแลแหล่งน้ำที่ไหลผ่านในชุมชนของตนได้เป็นอย่างดี และจากข่าวการเสียชีวิตของพะยูนมาเรียม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ผลักดันโครงการ “มาเรียมโปรเจกต์” ขึ้น เพื่อรณรงค์การทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางมากขึ้น รวมไปถึงลด ละ เลิกการใช้พลาสติกด้วย เนื่องจากขยะในท้องทะเลส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมบนฝั่ง ที่ไหลผ่านชุมชนมาตามแม่น้ำ คู คลองและไหลลงสู่ทะเล การปลูกจิตสำนึกเรื่องการทิ้งขยะให้กับประชาชน จึงเป็นเรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญและต้องการแก้ไขให้ได้ทั้งระบบอย่างจริงจัง
สำหรับกิจกรรมภายในงานปีนี้ นอกจากมีนิทรรศการที่มุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำแล้ว ยังมีการแสดงเพลงอีแซว จากศิลปินแห่งชาติ “แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์” และการประกวดร้องเพลง “เยาวชน คนรักษ์น้ำ” เพื่อจุดประกายให้ชุมชนต่างๆ ร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่ของตนเองอย่างต่อเนื่องด้วย
ทั้งนี้ จากการที่กรมทรัพยากรน้ำ ได้จัดกิจกรรม “วันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง แห่งชาติ”
มาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้เกิดการรวมกลุ่มประชาชนในหลายๆ พื้นที่ เพื่อพัฒนาแม่น้ำคูคลองในพื้นที่ของตนเอง โดยจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อย่างต่อเนื่องในการดูแล ทำความสะอาด และเฝ้าระวัง เพื่อให้แหล่งน้ำมีคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับการใช้เพื่ออุปโภคบริโภค โดยแต่ละกลุ่มได้มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายรักษ์น้ำ จนถึงปัจจุบันมีเครือข่ายรักษ์แม่น้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ประมาณ 5,000 คน ซึ่งเครือข่ายต่างๆ เหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยดูแล และพัฒนาแม่น้ำคูคลองในพื้นที่ให้ดีขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน