คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา เร่งทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่ติดตามการทำงานตามนโยบายรัฐบาล ผ่านโครงการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน โครงการบางระกำโมเดล โครงการเกษตรแปลงใหญ่ และโครงการพัฒนาศักยภาพขบวนการผลิตสินค้า พื้นที่พิษณุโลก ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา พร้อมคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก เพื่อติดตามโครงการ การจัดหาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จากตัวแทนจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ติดตามการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดบทบาทหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ วุฒิสภามีหน้าที่ในการติดตามการปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แม้สมาชิกวุฒิสภาจะไม่มีอำนาจในการสั่งการแบบรัฐบาล แต่จะเป็นส่วนเสริมในการผลักดันสะท้อนปัญหาต่อฝ่ายบริหารให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลอย่างเต็มที่

ซึ่งจากการลงพื้นที่ บ้านแม่ระหัน ตำบลบ้านกร่าง จ.พิษณุโลก เพื่อดูสภาพพื้นที่และการบริหารจัดการน้ำ โครงการบางระกำโมเดล ที่ได้ริเริ่มไว้ตั้งแต่สมัย พล.อ.ฉัตรชัยฯ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งปี 60-62 ได้จับเข่าคุยกับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มผลิต กลุ่มปัจจัยการผลิต กลุ่มสหกรณ์ และกลุ่มปฏิรูป และได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าภาพรวมของปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยโดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล 42%เขื่อนสิริกิติ์ 52% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 28% และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำประมาณ 48% เท่านั้น เนื่องจากฝนไม่ตกตามฤดูกาลและปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งพล.อ.ฉัตรชัยฯ ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการในด้านการบริหารจัดการน้ำและการช่วยเหลือ ไว้รองรับภัยแล้งในปี 2563 และอาจจะใกล้เคียงกับการเกิดวิกฤตภัยแล้งในปี 2558

ขณะที่การลงพื้นที่ดูนาแปลงใหญ่ จ.พิษณุโลกมีการดำเนินการทั้งหมด 331 แปลง มีเกษตรกรเข้าร่วม 1,720 ราย พื้นที่ 41,382 ไร่ ลดต้นทุนการผลิตได้ 848 บาทต่อไร่ สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร 2,000 บาทต่อไร่ หลังมีการริเริ่มดำเนินการในขั้นต้นไว้แล้ว อยากให้หน่วยงานหาแนวทางดำเนินการต่อไปในขั้นกลางและขั้นปลาย โดยชุมชนจะต้องเข้ามาบริการจัดการด้วยตัวเอง ผู้จัดการต้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และต้องมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้ ซึ่งรัฐบาลอาจจะต้องเปิดให้เกษตรกรกู้เพิ่มเติม รวมทั้งต้องบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะในปี 63 ที่กำลังรองบประมาณที่จะมาถึง เพื่อให้งานทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ พล.อ.ฉัตรชัยยังฝากกำชับส่วนราชการว่า รัฐบาลมีนโยบายออกมามากมาย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบรายละเอียด จึงขอให้เร่งประชาสัมพันธ์งานต่างๆให้เข้าถึงประชาชนและเกษตรกรได้รับรู้ด้วย


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน