นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการให้บริการทุกด้านเพื่อตอบสนองแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และสถานประกอบการให้ดียิ่งขึ้น โดยได้พัฒนาระบบบริหารจัดการทั้งภายในและภายนอกองค์กรให้มีความโดดเด่นและเป็นเลิศ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา สปส.ได้สรุป 10 ผลงานเด่นของกองทุนทดแทน ซึ่งมีดังนี้

  1. ให้ความคุ้มครองลูกจ้างเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย เนื่องจากการทำงาน โดยในปี 2562 จ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง แล้ว 78,230 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 1713.13 ล้านบาท
  2. แก้ไขกฎหมายเงินทดแทนเพื่อขยายความคุ้มครองให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน กับลูกจ้างส่วนราชการ ลูกจ้างสมาคม มูลนิธิ ลูกจ้างองค์กรระหว่างประเทศ ลูกจ้างในกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ ให้เข้าสู่กองทุนเงินทดแทน
  3. แก้ไขกฎหมายเงินทดแทน เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน โดยเพิ่มอัตราค่าทดแทนเป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เพิ่มค่าทำศพไม่น้อยกว่า 100 เท่าของค่าจ้าง และเพิ่มเวลาจ่ายเงินทดแทนเป็น 10 ปี กรณีลูกจ้างตายหรือสูญหาย ส่วนกรณีทุพพลภาพ เพิ่มเวลาจ่ายเงินทดแทนเป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี อีกทั้ง ยังเพิ่มค่ารักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างเจ็บป่วยจนสิ้นสุดการรักษา กรณีที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ
  4. ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมส่งเสริมความปลอดภัย และอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ดำเนินโครงการเพื่อลดอัตราการประสบอันตราย และเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน
  5. คลินิกโรคจากการทำงาน กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการศูนย์โรคจากการทำงาน เพื่อดูแล รักษา วินิจฉัยโรค สร้างระบบป้องกันและส่งเสริมสุขภาพฟรี โดยมีโรงพยาบาลที่ให้บริการ 114 แห่ง ให้บริการทั้งเชิงรุก และเชิงรับ ช่วยให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ดูแลลูกจ้างได้ครอบคลุมและทั่วถึง
  6. ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานแก่ลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานและผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพในทุกด้าน ทั้งด้านการแพทย์ อาชีพ จิตใจและสังคม ส่งเสริมด้านกีฬาคนพิการ และการมีงานทำของผู้จบการฟื้นฟูฯ มีผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ จำนวน 1,262 คน จบการฟื้นฟูฯ 383 คน
  7. ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระรวม 366 คน เช่น จัดทำกายอุปกรณ์เสริม และกายอุปกรณ์เทียม เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ปรับสภาพสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้สะดวกต่อการดำเนินชีวิต และฟื้นฟูด้านอาชีพ เช่น โครงการ Smart Farmer ปลูกผักในโรงเรือน หรือปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ นำเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้
  8. สปส.ร่วมมืออบรมบุคลากรระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประกันสังคมอาเซียน (ASSA) ครั้งที่ 5 ในหลักสูตร การฟื้นฟูสมรรถภาพแบบครบวงจร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอบรม 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปินส์ และสิงค์โปร์ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำแนวทางการฟื้นฟู ไปปรับใช้กับบริบทของประเทศตนเอง โดยเฉพาะการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านจิตใจและสังคม ซึ่งมีความสำคัญในการเป็นตัวเชื่อมกับสหวิชาชีพอื่นๆ
  9. สปส. เยี่ยมลูกจ้างที่ป่วย ทุพพลภาพ และผู้ป่วยหลังภาวะวิกฤต ในวันสำคัญและโอกาสพิเศษต่างๆสร้างขวัญและกำลังใจ รับทราบปัญหา สร้างความอบอุ่นให้ผู้ประกันตนมีความพึงพอใจต่อการให้บริการ ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยในปี 2562 ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 23,313 คน
  10. พัฒนาระบบการออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) กองทุนเงินทดแทน เพื่อให้นายจ้าง และผู้ประกันตน ได้รับการบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบใหม่ ผ่านช่องทางการให้บริการตัวแทนของ สปส.ได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดต้นทุนในการติดต่อขอรับบริการของประชาชน สร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการชำระเงินสมทบ

ทั้งนี้ การพัฒนาภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้งานประกันสังคมเป็น “ประกันสังคมทั่วไทย” และสอดคล้องกับนโยบายของ หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนโยบายรัฐบาลในการที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน