เกษตรกรโคนมสุดปลื้ม ในหลวง ร.๑๐ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีประราชทานถ้วยรางวัลในงานประกวดโคนมดีเด่นระดับประเทศครั้งที่ ๓๗ หวังกระตุ้นเกษตรกรไทยเร่งยกระดับการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขันใน อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมในและต่างประเทศ และขับเคลื่อนสู่ยุทธศาสตร์นมแห่งชาติ

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า เพื่อแสดงความก้าวหน้าของการปรับปรุงพันธุ์โคนมในประเทศ รวมทั้งแสดงศักยภาพด้านผลผลิตน้ำนมของแม่โคนมที่เกิดในประเทศไทย ทางอ.ส.ค. จึงได้มีการจัดให้มีการประกวดโคนมชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่10) สำหรับโคนมที่ชนะเลิศการประกวดโคนม ประเภทที่ 5 โคนมมากท้องแรก อายุไม่เกิน 28 เดือน (ด้านผลผลิต) และถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสำหรับโคนมที่ชนะเลิศการประกวดโคนมประเภทที่ 6 โคนมมาก ไม่จำกัดอายุ (ด้านผลผลิต) ภายในงาน “เทศกาลโคนมแห่งชาติ” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 37ณ ลานประกวดโค อ.ส.ค. ในฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา

สำหรับปีนี้จัดให้มีการประกวดโคนมดีเด่น 7 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 โคนมรุ่นอายุ 12-15 เดือน ประเภทที่ 2 โคนมรุ่นอายุ 15-18 เดือน ประเภทที่ 3 โคนมรุ่นอายุ 18-21 เดือน ประเภทที่ 4 โคนมรุ่นอายุ 21-24 เดือน (ต้องไม่ผ่านการรีดนม) ประเภทที่ 5 โคนมมากท้องแรกอายุไม่เกิน 28 เดือน (ด้านผลผลิต) ชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ประเภทที่ 6 โคนมมากไม่จำกัดอายุ (ด้านผลผลิต) ชิงถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประเภทที่ 7โคนมอายุมากกว่าอายุ 24เดือน

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออาชีพการเลี้ยงโคนม โดยมีนโยบายที่จะพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาสู่อาชีพที่มั่นคง ซึ่งการประกวดโคนมสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมนั้น นอกจากช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพันธุ์โคนม บริหารจัดการฟาร์มโคนมที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างศักยภาพความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ทั้งด้านพัฒนาประสิทธิภาพของปริมาณการผลิตน้ำนมดิบและคุณภาพน้ำนมดิบที่ อ.ส.ค. มุ่งพัฒนาและขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมในและต่างประเทศ และเพื่อขับเคลื่อนสู่ยุทธศาสตร์นมแห่งชาติอีกด้วย

“ปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมโคนมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีโคนมมากกว่าหกแสนตัว กว่าครึ่งเป็นแม่โครีดนมกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ กำลังการผลิตน้ำนมดิบไม่ต่ำกว่า 1,264,000 ตัน สำหรับ อ.ส.ค.รับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรประมาณ 20% ของทั้งประเทศ โดยน้ำนมดิบส่วนใหญ่ 90% ถูกส่งป้อนตลาดนมพาณิชย์ และ 10% สำหรับโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียน มีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 4,861 ราย และเป็นเกษตรกรที่ส่งน้ำนมดิบให้กับทาง อ.ส.ค. จำนวน 3,868 ราย มีปริมาณโคนมรวมกว่า 130,989 ตัว ซึ่ง อ.ส.ค. มีเป้าหมายเร่งพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มทักษะการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรสมาชิก มุ่งส่งเสริมให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) ตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯ คาดว่าจะสามารถช่วยยกระดับฟาร์มโคนมให้ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม (GAP) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 20% ซึ่งจะทำให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพมาตรฐาน พร้อมลดต้นทุนการผลิตลงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรมีความมั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพด้วย

นอกจากนี้ ในแผนแม่บทส่งเสริมการเลี้ยงโคนม 4.0 ระยะ 5ปี (2560-2564) ของ อ.ส.ค.ยังมีเป้าหมายก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของประเทศ รวมทั้งพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมของ อ.ส.ค. ได้ผลผลิตน้ำนมโคเพิ่มขึ้นจาก 12.80 กิโลกรัม/ตัว/วัน เป็น 15.57 กิโลกรัม/ตัว/วันภายในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อปี และจำนวนฟาร์มโคนมของเกษตรกรสมาชิกมีคุณภาพน้ำนมดิบสูงขึ้นจากเดิมปีละ10% โดยวัดจากค่าเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือโซมาติกเซลล์ (SCC) ไม่เกิน 400,000 เซลล์/มิลลิลิตร และปริมาณของแข็งทั้งหมด (TS) ไม่น้อยกว่า 12.50%

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน