โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลส่งเสริมสุขภาพโดยเน้นดูแลเชิงป้องกันด้วยการวินิจฉัยความเสี่ยงของการเกิดโรคจากพันธุกรรมเป็นรายบุคคล เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเป็นการป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที ชี้นวัตกรรมทางการแพทย์กำลังจะเปลี่ยนไปซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

ดร.เทอร์รี่ กรอสแมน ผอ.ด้านการแพทย์นานาชาติ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ กล่าวว่า ไวทัลไลฟ์กำลังเข้าสู่ยุคของการดูแลสุขภาพเป็นรายบุคคลด้วยการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรม เนื่องจากการตรวจความผิดปกติของดีเอ็นเอหรือรหัสทางพันธุกรรมจะช่วยระบุความเสี่ยงของอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ภาวะกระดูกพรุน โรคอ้วน ภูมิแพ้อาหารแฝง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความสามารถของพันธุกรรมในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย แม้ว่ารหัสทางพันธุกรรมไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่สามารถป้องกันโรคเชิงรุกเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเฉพาะอย่าง เป็นแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น เลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ กำหนดตารางการออกกำลังกาย และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหมาะสม

ในการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมเพื่อระบุความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและสาเหตุของการเกิดโรคนั้น หากตรวจพบความเสี่ยงต่อโรค บุคลากรทางการแพทย์จะมุ่งเป้าไปที่รหัสพันธุกรรมและเริ่มปฏิบัติการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและเฝ้าระวังอย่างสูงสุด ยกตัวอย่าง โรคอัลไซเมอร์ที่มักเกิดในผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป และเป็นร้อยละ 60 ของภาวะสมองเสื่อมทั่วโลก ซึ่งอาการเริ่มต้นสามารถตรวจพบได้นานถึง 8 ปีก่อนการวินิจฉัยว่าเป็นอัลไซเมอร์

“ไวทัลไลฟ์สามารถตรวจพบการแปรผันทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ การแปรผันบางกลุ่มทำให้ความเสี่ยงของการเกิดโรคเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า ขณะที่บางครั้งก็สามารถลดความเสี่ยงลงถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ภาวะสมองล้าจะเป็นอาการทางสมองที่พบได้บ่อยในทุกช่วงอายุจากสาเหตุการนอนหลับไม่เพียงพอ ความเครียด ภาวะฮอร์โมนและสารอาหารไม่สมดุล โลหะหนักในร่างกาย และแบคทีเรียในทางเดินอาหาร เป็นต้น”

นพ.เขษม์ชัย เสือวรรณศรี แพทย์ผู้ชำนาญการด้านประสาทวิทยา รพ.บำรุงราษฎร์ และ ผอ.ด้านการแพทย์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ อธิบายเพิ่มเติมด้วยการเปรียบเทียบอาการของภาวะสมองล้าว่า เหมือนมีหมอกปกคลุมการทำงานของสมอง ทำให้ไม่มีสมาธิ มีกระบวนการคิดช้าลง หลงลืมง่าย และยังพบว่าจิตใจเหนื่อยล้า เปลี่ยนใจง่าย และพบภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย โดยภาวะขาดน้ำ โรคเรื้อรัง อาการทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า ฮอร์โมนไม่สมดุล และยาบางชนิด อาจมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะสมองล้า

“ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้สามารถป้องกันภาวะสมองล้าที่สาเหตุซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษา เมื่อร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตก็จะช่วยให้การรักษาภาวะสมองล้ามีประสิทธิภาพและคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วย โปรแกรมเสริมสร้างการทำงานของสมองที่ไวทัลไลฟ์จะวิเคราะห์ข้อมูลการได้รับโลหะหนักที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและทำให้เกิดภาวะสมองล้าได้ ซึ่งการวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นนวัตกรรมเฉพาะของไวทัลไลฟ์ที่ไม่มีในโปรแกรมการตรวจสุขภาพสมองทั่วไป”

ธานี มณีนุตร์ ผอ.ฝ่ายการพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ รพ.บำรุงราษฎร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “แพทย์จากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ผนึกกำลังพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพรายบุคคลที่ผสมผสานเวชศาสตร์การรักษาโรคและและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เช่น โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพสมอง ทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ การตรวจพันธุกรรม เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ เป็นต้น โดยได้มีการรวบรวมข้อมูลและอัพเดทเทรนด์การดูแลสุขภาพล่าสุดในการประชุมสำนักงานตัวแทนนานาชาติกว่า 60 ประเทศทั่วโลกของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เมื่อเร็วๆ นี้ ที่กรุงเทพฯ

เพื่อรักษามาตรฐานความเป็นผู้นำการบริบาลสุขภาพระดับโลก ซึ่งไวทัลไลฟ์ได้ยกระดับความเป็นผู้นำการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากว่า 18 ปี โดยการเสริมทัพผู้เชี่ยวชาญทางเวชศาสตร์การชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพจากนานาชาติที่พร้อมให้บริการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงสุดในระดับเวิลด์คลาส”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน