ถ้าพูดถึงคำว่า “ศิลปกรรม” หลายคนคงนึกถึงแต่งานศิลปะอย่างเช่นจิตรกรรมหรือประติมากรรม แต่อันที่จริง “ศิลปกรรม” มีความหมายกว้างไกลมากกว่านั้น

ดังเช่นคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เปิดสอน 4 สาขาวิชา ได้แก่ ทัศนศิลป์ การออกแบบนิเทศศิลป์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ และการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ ซึ่งไม่เพียงแต่ฝึกฝนให้เด็กสร้างสรรค์งานศิลป์ได้อย่างชำนาญมากขึ้น แต่ยังเน้นผลิตบัณฑิตที่สามารถพลิกแพลงหัวคิดด้านศิลปะและการออกแบบให้เหมาะสมกับแวดวงธุรกิจ มากกว่าจะเก่งศิลปะเพียงอย่างเดียว เด็กจึงได้ฝึกสานไอเดียและต่อยอดจินตนาการให้กลายเป็นความจริงและอาชีพในฝัน โดยอิงหลักทางวิชาการครบถ้วน ตอบโจทย์ตลาดศิลปะยุคใหม่ทั้งงานประจำและงานอิสระได้กว้างขวางกว่าที่คิด

ว่าแล้วก็มาทำความรู้จักบางอาชีพภายใต้คณะศิลปกรรมศาสตร์เหล่านี้เพื่อเรียกน้ำย่อยกันดีกว่า

ภัณฑารักษ์

ใครเคยชมหนังดังเรื่อง The Da Vinci Code คงรู้จักตัวละคร ฌาคส์ โซนิแยร์ ผู้ทิ้งรหัสลับมากมายไว้ได้ดี เขาผู้นี้ทำงานเป็นภัณฑารักษ์หรือ Curator อยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ แต่หลายคนอาจยังสงสัยว่า ภัณฑารักษ์มีหน้าที่อะไรกันแน่?

ภัณฑารักษ์ถือเป็นตำแหน่งที่ใหญ่ที่สุดในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ มีหน้าที่คัดสรรงานศิลปะจากศิลปินต่างๆ มาจัดแสดง รวมถึงให้ความรู้แก่คนทั่วไป ในโลกศิลปะร่วมสมัย ภัณฑารักษ์มีบทบาทสำคัญมาก เพราะเป็นผู้กำหนดธีมของนิทรรศการ อีกทั้งเลือกศิลปินผู้มีผลงานสอดคล้องกับธีมที่กำหนด หากเปรียบเป็นภาพยนตร์สักเรื่อง ถ้าศิลปินคือนักแสดงภัณฑารักษ์ก็คือผู้กำกับนั่นเอง ภัณฑารักษ์จึงนับว่ามีบทบาทมากกว่าศิลปินเสียด้วยซ้ำ

หอศิลป์หรือแกลเลอรี่ใหญ่ๆ มักมีภัณฑารักษ์เป็นของตนเอง ในขณะที่ภัณฑารักษ์อิสระซึ่งหอศิลป์เชิญมาตามแต่โอกาสก็เป็นที่ต้องการ ในเมืองไทยอาชีพนี้อาจยังไม่แพร่หลายนักเพราะจำเป็นต้องศึกษาระดับปริญญาโทเฉพาะทางให้มีความเชี่ยวชาญก่อน แต่แนวโน้มของหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ในบ้านเราก็เติบโตขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ดังนั้นถ้าใครมีความสามารถพอเป็นภัณฑารักษ์ได้ ย่อมโดดเด่นเหนือใคร แถมรายได้ยังสูงลิ่วด้วย ซึ่งสาขาวิชาทัศนศิลป์ก็พร้อมจะวางพื้นฐานให้ล่วงหน้า

นักออกแบบอินโฟกราฟิก

ด้วยความที่พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่นิยมเสพข้อมูลข่าวสารแบบกระชับ ย่นย่อ อาชีพนักออกแบบอินโฟกราฟิก (Infographic Designer) ผู้ทำหน้าที่สร้างสรรค์ภาพหรือกราฟิกประกอบข้อมูลต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจและทำให้ผู้รับสารรู้เรื่องได้ง่ายขึ้น จึงบูมมาพักใหญ่

บางคนอาจคิดว่าแค่นำข้อมูลมาประกอบภาพวาดสวยๆ ไม่น่าจะยากซึ่งถือเป็นความคิดที่ผิดถนัด เพราะนอกเหนือจากภาพวาดสวยๆ แล้ว ยังมีขั้นตอนการ “สกัดข้อมูล” เพื่อนำมาใช้ประกอบภาพ ขั้นตอนนี้ต้องผ่านการคิด วิเคราะห์ และแยกย่อยเนื้อหาสำคัญออกมานำเสนอได้อย่างเหมาะสม กระบวนการที่ว่าจำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนและบ่มเพาะโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ ก็สอนด้านนี้

และเมื่อไม่นานมานี้นักศึกษาของคณะคือ นายอันดามัน พานิช ได้นำผลงานอินโฟกราฟิกเรื่อง “ความหลากหลายของคุณภาพทางด้านโภชนาการในข้าวสีพันธุ์พื้นเมืองของไทย” ไปคว้ารางวัลชนะเลิศระดับชาติในการแข่งขันสร้างสรรค์สื่ออินโฟกราฟิกและโมชั่นกราฟิก ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในขณะที่นักศึกษาอีก 4 คนของคณะก็คว้ารางวัลชมเชยจากเวทีเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าการบ่มเพาะนักศึกษาให้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านของสาขาวิชานี้ได้ผลเพียงใด

นักออกแบบผลิตภัณฑ์และออกแบบการบริการ

ถ้าพูดแค่ว่า “นักออกแบบผลิตภัณฑ์” ทุกคนคงเดาออกว่าทำอะไร แต่พอพ่วงท้ายคำว่า “ออกแบบการบริการ” เข้าไปด้วย หลายคนอาจเริ่มทำหน้างงๆ

ปัจจุบันสินค้าต่างๆ ในท้องตลาด ไม่ได้เน้นแค่ความสวยงามเท่านั้น หากยังต้องมีประโยชน์ใช้สอยที่เหนือกว่าหรือแปลกแตกต่างจากคู่แข่ง อย่างเช่นผลงานของนางสาววศินี ชินวรรังสี บัณฑิตรุ่นแรกจากสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ก่อนเรียนจบ เธอได้ออกแบบของเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของกลุ่มเด็กผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ นอกจากจะตอบสนองกลุ่มเฉพาะที่หลายคนมองข้าม ของเล่นนี้ยังได้รับการ “ออกแบบผลิตภัณฑ์” ให้ดูสวยงาม ทันสมัย อีกทั้ง “ออกแบบการบริการ” ด้วยการเพิ่มฟังก์ชั่นที่น่าใช้มากไปกว่าแค่ดูหรือหยิบจับเพียงอย่างเดียว โดยออกแบบให้เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มความสนุกและลดความกดดันในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้มีความเข้าใจใกล้เคียงหรือทัดเทียมเด็กคนอื่นๆ

การเพิ่มทักษะการออกแบบการบริการเข้าไปนั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ผลิตภัณฑ์น่าสนใจมากขึ้น หากยังช่วยเพิ่มมูลค่าหรือราคาจำหน่ายได้ด้วย กระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์นี้ก็จำเป็นต้องผ่านการบ่มเพาะจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเช่นเดียวกัน

วิชวลเมอร์แชนไดเซอร์

ในยุคที่กำลังการจับจ่ายของผู้คนผันผวนตามสภาพเศรษฐกิจ กลยุทธ์หนึ่งที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำต้องนำมาใช้เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขายก็คือ การตกแต่งหน้าร้านให้สวยสะดุดตาและดึงดูดใจให้ลูกค้าแวะเข้าไปชม จนสุดท้ายอาจเผลอใจช็อปสินค้านั้นติดมือกลับบ้าน

ผู้ตกแต่งหน้าร้านนี่เองคือวิชวลเมอร์แชนไดเซอร์ (Visual Merchandiser หรือ VM) ซึ่งไม่เพียงแค่มีรสนิยมด้านการออกแบบ สามารถ Mix & Match สินค้าต่างๆ ให้อยู่รวมกันได้อย่างลงตัว ยังต้องเป็นคนทันยุคทันสมัย ตามติดกระแสแฟชั่นโลก รู้จักสร้างบรรยากาศการขายและบริหารพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนเข้าใจกลไกทางการตลาดด้วย ทักษะเหล่านี้ไม่อาจใช้พรสวรรค์ทางศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่ต้องฝึกคิด วิเคราะห์ และมององค์ประกอบต่างๆ ผ่านการเรียนการสอนจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญให้ทะลุประโปร่งเสียก่อน ปัจจุบันสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอก็ได้ผลิตศิลปินเก่งๆ ไปเป็น VM ให้บริษัทและแบรนด์ดังๆ มากมาย เช่น ห้างเซ็นทรัลเอ็มบาสซี, King Power และ H&M ฯลฯ

เห็นไหมละว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่ได้ผลิตแค่ “ศิลปิน” แต่ผลิต “ศิลปินเชิงพาณิชย์ศิลป์” ซึ่งแวดวงธุรกิจการออกแบบทั้งในและต่างประเทศต้องการตัวเป็นอย่างมาก คำว่า “ศิลปินไส้แห้ง” จึงตกเทรนด์ไปแล้วสำหรับศิลปินยุคใหม่ที่เรียนจบคณะนี้

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน