นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ด้วยกรมศิลปากรได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและจัดทำพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้ขอความอนุเคราะห์กรมการข้าวในการจัดทำแปลงนาข้าวในงานภูมิสถาปัตยกรรมรอบพระเมรุมาศ บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ จำนวน 5 แปลง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพระราชดำริที่จะนำมาแสดงบริเวณพื้นที่ด้านนอกรั้วราชวัตรทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทางเข้าออกหลักของพระเมรุมาศ โดยได้ออกแบบจัดแสดงแปลงมีขอบคันนา ซึ่งเป็นแบบเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นเป็นเลขเก้าไทยสีดินทอง เป็นเชิงสัญลักษณ์สื่อว่าพระเมรุมาศที่สร้างขึ้นถวายให้กับในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยให้มีความอยู่ดีกินดี

“กรมการข้าว จึงได้มีการเตรียมการที่จะปลูกข้าว เพราะถือว่าเป็นโครงการตามพระราชดำริ ซึ่งข้าวกับชาวนา ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าในเรื่องข้าวมาโดยตลอด พระองค์ท่านทรงเป็นพระบิดานักวิจัยและการพัฒนาข้าว ซึ่งตรงนี้ทางกรมการข้าวก็จะไปทำการจัดภูมิสถาปัตย์รอบพระเมรุให้สมพระเกียรติ ซึ่งทางกรมศิลปากรต้องการให้ภายในแปลงข้าวมีข้าวหลากหลายระยะ ตั้งแต่ระยะต้นกล้า ระยะข้าวแตกกอ และระยะที่ข้าวออกรวง ซึ่งทางกรมการข้าวจึงได้มาวางแผนว่า จะใช้พันธุ์อะไรในการที่จะจัดภูมิสถาปัตย์ ให้มีข้าวที่มีกลิ่นหอม มีทรงต้นที่สวยงาม เพื่อให้รับกับภูมิสถาปัตย์ โดยเลือกข้าว 3 สายพันธุ์ คือ ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และข้าวพันธุ์ กข 31 หรือปทุมธานี 80 ให้อยู่ภายในรูปแบบแปลงข้าว โดยมีระยะที่แตกต่างกันไป” นายอนันต์ กล่าว

ดังนั้น กรมการข้าว ได้ระดมทีมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวเพื่อวางแผนการเตรียมต้นข้าวใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้มีความสมบูรณ์ ตลอดจนดูแลรักษาให้คงสภาพความสวยงาม เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าถวายความอาลัยภายหลังพระราชพิธี รวมระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ วันที่ 26 กันยายน-พฤศจิกายน 2560 จึงได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยพิธีพราหมณ์ ในเวลา 14.09 น. ในวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเพาะปลูกสำหรับพระราชพิธีเพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งกรมการข้าวได้คัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีกลิ่นหอม และแสดงถึงการเจริญเติบโตของข้าวในระยะต่างๆ จำนวน 3 พันธุ์ ดังนี้

  1. 1. ระยะต้นกล้า อายุข้าว 15 วัน เริ่มเพาะกล้า วันที่ 25 สิงหาคม 2560 คือ พันธุ์ปทุมธานี 1 มีลักษณะของกอตั้ง ใบสีเขียวขจี มีขนคล้ายกำมะหยี่ เป็นตัวแทนของข้าวภาคกลาง ซึ่งนิยมปลูกกันมาก โดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีเป็นผู้รับผิดชอบการเพาะปลูก
  2. 2. ระยะแตกกอ อายุข้าว 45 วัน เริ่มเพาะกล้า วันที่ 11 สิงหาคม 2560 คือ พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกมาจากลำต้น เป็นตัวแทนของข้าวในภาคอีสานและเหนือที่นิยมปลูกกันมาก โดยศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยาเป็นผู้รับผิดชอบการเพาะปลูก
  3. 3. ระยะออกรวง อายุข้าว 80 วัน เริ่มเพาะกล้า วันที่ 10 กรกฎาคม 2560 คือ ข้าว กข 31 หรือพันธุ์ปทุมธานี 80 รับรองพันธุ์เมื่อ วันที่ 6 มีนาคม 2560 เป็นพันธุ์ข้าวที่ตั้งชื่อเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา มีคุณสมบัติพิเศษคือ เมื่ออยู่ในระยะออกรวงจะชูรวงสวยงาม ไม่โน้มรวงลงกับพื้นเหมือนพันธุ์อื่นๆ โดยในการจัดแสดงครั้งนี้จะนำข้าวที่อยู่ในระยะพลับพลึงเกือบสีเหลืองทองมาจัดแสดงในแปลงนา โดยศูนย์วิจัยข้าวคลองหลวงเป็นผู้รับผิดชอบการเพาะปลูก

ทั้งนี้ กรมการข้าว ได้ใช้กระถางที่สั่งผลิตเป็นกรณีพิเศษ เพื่อสะดวกต่อการขนย้ายจัดเรียง สับเปลี่ยนในแปลงและวางแผนสำรองการเพาะปลูก 2 เท่าของปริมาณที่ใช้ได้จริง สำหรับการคัดเลือกลักษณะต้นที่มีความสมบูรณ์ และรองรับกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินไม่คาดคิด เนื่องจากเป็นการจำลองการปลูกในสภาพนาที่จัดขึ้นใหม่

จึงได้มีการจัดพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการเพาะปลูก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบวงสรวงเทวดา บูชาสิ่งศักดิ์ หรือบรรพบุรุษให้มาเป็นสักขีพยาน และมาร่วมเพื่อความเป็นสิริมงคล ช่วยคุ้มครองป้องกันภยันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินปราศจากภัยธรรมชาติและจะไม่มีแมลงศัตรูพืชต่างๆ เข้ามาทำลายต้นข้าว ให้มีความสวัสดิมงคล มีความอุดมสมบูรณ์สืบไป

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว ประธานในพิธี

พันธุ์ปทุมธานี 1

พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105

ข้าว กข 31

 

 

 

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน