เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ณ ห้องประชุมอินฟินิตี้ 1-2 ชั้น G โรงแรมพลูแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.), สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) (องค์การมหาชน) จัดงานแถลงความสำเร็จผลการดำเนินงานการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย NAMA และเปลี่ยนผ่านสู่เป้าหมาย NDC เพื่อประกาศความสำเร็จของการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดงาน โดยภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “เตรียมความพร้อมมุ่งสู่เป้าหมาย NDC อย่างมั่นใจ” จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการจากหลายภาคส่วน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของแต่ละองค์กร ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน และผู้สนใจทั่วไป

ผลการดำเนินงานในปี พ.ศ.2563 (จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ในปี พ.ศ2561) พบว่า ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการภาคพลังงานได้เท่ากับ 57.84 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq) หรือคิดเป็นร้อยละ 15.76 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายขั้นต้นของ NAMA ที่มีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า ร้อยละ 7 ของการดำเนินงานภายในประเทศ เมื่อเทียบกับ BAU (Business as Usual)ของ NAMA ในปี พ.ศ.2563 (ค.ศ.2020)

สำหรับการดำเนินงานประเทศไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงอย่างเป็นทางการต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1: การดำเนินงานตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ หรือ NAMA (Nationally Appropriate Mitigation Action) มีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกจากสาขาพลังงานและขนส่งที่ ร้อยละ 7 – 20 หรือ คิดเป็น 24 – 74 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี พ.ศ.2563 โดยแบ่งออกเป็นการดำเนินการเองในประเทศ (Domestically-Supported NAMA) ที่ร้อยละ 7 และการดำเนินการที่ขอรับการสนับสนุนระหว่างประเทศ (Internationally-Supported NAMA อีกร้อยละ 13 จากการดำเนินงานในกรณีปกติ (Business as Usual: BAU)

ในขณะที่ ระยะที่ 2: การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) มีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วน (Economy-Wide) อันได้แก่ สาขาพลังงานและขนส่ง สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และสาขาการจัดการของเสีย ที่ร้อยละ 20-25 หรือ คิดเป็น ไม่น้อยกว่า 111 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จาการดำเนินงานในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ.2573

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ NDC ฉบับปรับปรุง (Updated NDC) ของประเทศไทย เพื่อศึกษา วิเคราะห์ รวบรวมข้อมูล และยกร่าง NDC ฉบับปรับปรุง ดังกล่าว ให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งหน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย NDC ของประเทศไทย ต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน