ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยประสานงานเครือข่ายคลังสมองด้านนโยบายบิมสเทค (BIMSTEC Network of Policy Think Tanks) สถานเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศสมาชิกบิมสเทคประจำประเทศไทย และบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนา “อ่าวเบงกอล แรงบันดาลใจสู่ความยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเรียนรู้และเข้าใจสมาชิกกลุ่มประเทศในบิมสเทคในแง่มุมการเชื่อมโยงระดับประชาชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย ได้เข้าใจความต้องการของกลุ่มประเทศบิมสเทค

ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะได้รับเกียรติอีกครั้งในการเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC ดังนั้นเราควรศึกษาและเข้าใจสมาชิกในกลุ่มผ่านการเชื่อมโยงในระดับประชาชน (People to People Connectivity) ทั้งด้านศาสนา วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวการศึกษา และความร่วมมือของชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งทำให้เข้าถึงกลุ่มสมาชิกประเทศบิมสเทคอย่างลึกซึ้ง มากกว่าแง่มุมด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

ภายในงานสัมมนา ทำให้รู้จักอ่าวเบงกอลในหลายแง่มุม โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ในฐานะที่อ่าวเบงกอลเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางการค้าในมหาสมุทรอินเดียที่พูดถึงจุดเชื่อมโยงของสยามสู่ดินแดนทางทิศตะวันตกทางชายฝั่งตั้งแต่อดีต ทั้งการเชื่อมโยงทางบก ทางทะเล ทางจิตวิญญาณ รวมถึงเรื่องของการเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องชุมชน วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ไปจนถึงความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น อาหาร อาทิ ข้าว ปลา กะปิ ชา ที่มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย

ถึงเวลาที่เราจะต้องทำความรู้จักอ่าวเบงกอลอีกครั้ง ในการเสริมสร้างทัศนคติที่เอื้อต่อความร่วมมือ ผ่านสายสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงในระดับประชาชน เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้มีเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ระยะทางไม่ไกลจากประเทศไทย ทำให้เราสามารถบูรณาการความร่วมมือ การผสานผลประโยชน์ กับสมาชิกในกลุ่มบิมสเทคได้

ประเทศไทยเป็น 1 ในสมาชิกกลุ่มประเทศสมาชิกบิมสเทคซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ” (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) มานานกว่า 23 ปี และมีประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมาร์ ศรีลังกา เนปาล และภูฏาน ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง (Emerging Economies) ซึ่งธนาคารโลกกล่าวถึงศักยภาพร่วมกันในการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เพื่อเสริมสร้างโอกาสการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน 6 มิติ 1) การประมง 2) แหล่งพลังงานทางเลือก 3) การขนส่งทางทะเล 4) การท่องเที่ยว 5) การบริหารจัดการของเสียทางทะเล และ 6) ศักยภาพของมหาสมุทรในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศด้วย

ในช่วงผลกระทบโควิดที่ผ่านมา กลุ่มประเทศบิมสเทคได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากปัจจัยภายนอกจากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศน้อยมาก เนื่องจากประเทศเหล่านี้พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการบริโภคภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนระหว่างร้อยละ 55-70.8 ของมูลค่าผลผลิตรวมภายในประเทศ นอกจากนั้นภูมิภาคอ่าวเบงกอลเป็นโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่า GDP รวมกันสูงถึง 3.620 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2561) ตลาดของประชากรขนาด 1.5 พันล้านคน ที่มีความหลากหลายทั้งในระดับฝีมือแรงงาน ประสบการณ์ และองค์ความรู้

ตลาดบิมสเทค เป็นตลาดที่น่าสนใจมาก มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องปีละประมาณ 2 ดิจิต ผู้ประกอบการประเทศไทยสามารถแสวงหาโอกาสขยายการค้าและการลงทุนได้ ซึ่งในงานสัมมนาครั้งนี้จะช่วยให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจสมาชิกกลุ่มประเทศในบิมสเทคในแง่มุมการเชื่อมโยงระดับประชาชน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย เข้าใจความต้องการของกลุ่มประเทศบิมสเทค เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้เปิดสู่ตลาดการค้าของโลกมาก จะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกไม่เกินร้อยละ 29.9 และการนำเข้าที่ยังไม่มากนักประมาณร้อยละ 49.55


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน