เมื่อโทรศัพท์มือถือและโลกออนไลน์คือ “โอกาสทอง” ที่หากใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ก็สามารถสร้างและต่อยอดธุรกิจได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะยุคนี้ ที่ผู้ประกอบการรายย่อยต่างถูก “โควิด-19” พ่นพิษใส่กันถ้วนหน้า หลายธุรกิจถึงกับล้มหายตายจาก หลายธุรกิจแม้ยังยืนตัวอยู่ได้แต่ก็สาหัส

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม ที่ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีลดความเหลื่อมล้ำในสังคมมาโดยตลอด จึงเปิดโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ต้อนรับผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศแบบไม่จำกัดวัย มาเรียนรู้ทักษะและกลยุทธ์ที่จำเป็นในโลกดิจิทัลแบบจัดเต็ม จุดความหวัง สนับสนุนทุกคนให้ลุยและรอดไปด้วยกันผ่านการปั้นธุรกิจออนไลน์ สร้างรายได้ในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว

สร้างธุรกิจออนไลน์ให้ปังด้วยทักษะดิจิทัล

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทค เล่าถึงที่มาของ “ดีแทค เน็ตทำกิน” ว่า วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้สังคมเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลเร็วขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม ในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งที่เกิดจากปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ข้อจำกัดทางการเงิน หรือผู้ที่เข้าถึงแต่ไม่ทราบวิธีที่จะใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ผู้ประกอบการรายย่อยเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงเปิดโครงการดีแทค เน็ตทำกิน เป็นการมอบกำลังใจ เสริมความรู้ความเข้าใจและทักษะสำคัญในโลกดิจิทัล เพื่อให้พวกเขานำไปปรับใช้กับการทำธุรกิจออนไลน์ ซึ่งเป็นทางหนึ่งในการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และดิจิทัลไปพร้อมกัน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทค ขยายความ

“ดีแทค เน็ตทำกิน” อุดจุดอ่อนของผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่มีความรู้เรื่องโลกออนไลน์มาก่อน หรือใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อยู่แล้ว แต่ยังไม่ทราบวิธีสร้างรายได้จากสื่อที่ใช้ ด้วยการออกแบบหลักสูตรให้เหมาะกับพ่อค้าแม่ขายทุกวัยและทุกประเภทธุรกิจ เน้นเนื้อหาเข้าใจง่าย ใช้ได้จริง ครอบคลุมตั้งแต่พื้นฐานการตลาดยุคดิจิทัล แพลตฟอร์มการทำการตลาดออนไลน์ การถ่ายภาพเบื้องต้น การสร้างคอนเทนต์และจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ปักหมุดธุรกิจติดดาว ไปจนถึงการให้คำแนะนำด้านธุรกิจ การปรับปรุงคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าเตะตาและขายดียิ่งขึ้นในยุคโควิด-19 ที่การค้าขายออนไลน์เติบโตคึกคัก

จากคำดูถูก สู่ “น้ำพริกบ้านทนาย” ขายออนไลน์ส่งทั่วไทย

“ตอนเอาน้ำพริกมาขายแรกๆ ก็ท้อ เพราะคนในวงการเดียวกันดูถูกเหยียดหยามว่าไม่มีงานทนายแล้วเหรอ บางคนก็หัวเราะเยาะที่เราต้องมายืนขายน้ำพริก เราก็ดิ่งไปเหมือนกัน แต่ท้ายสุดใครจะว่ายังไงก็ช่าง ฉันไม่ได้ฆ่าคนตาย จากนั้นก็ใช้คำดูถูกพวกนั้นมาเป็นแรงผลักให้เราดีดตัวเองขึ้นมาว่าฉันต้องทำให้ได้” วาสนา ปิ่นนาค ทนายความเจ้าของธุรกิจ “น้ำพริกบ้านทนาย” ที่โด่งดังในโลกออนไลน์ เล่าถึงคำเยาะเย้ยถากถางที่พลิกชีวิตเธอให้ดีขึ้น

ก่อนหน้านี้ แม่ของวาสนาทำน้ำพริกขายอยู่แล้ว มีหน้าร้านคือร้านขายของชำในตำบลห้วยงู อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เมื่อถึงช่วงว่างเว้นจากการทำนา พี่ป้าน้าอาในตำบลบางส่วนก็มาช่วยทำน้ำพริกขาย วาสนาเห็นเข้าก็เกิดความคิดอยากช่วยชาวบ้านให้มีรายได้มากขึ้น

จังหวะเหมาะที่ราวปี 2559-2560 “ดีแทค เน็ตทำกิน” หรือชื่อเดิมขณะนั้นคือดีแทค เน็ตอาสา ร่วมกับสำนักงานสถิติจังหวัดชัยนาท จัดอบรมเรื่องการสร้างธุรกิจออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไปแบบฟรีๆ วาสนาจึงสมัครเข้าร่วมอบรมด้วย

“ตอนนั้นเราใช้เฟซบุ๊กตามปกติ แต่พอเข้าร่วมโครงการก็เหมือนเปิดโลกออนไลน์ เพราะน้องๆ ทีมดีแทค เน็ตทำกิน ให้คำแนะนำตั้งแต่เริ่มต้น มีอบรมถ่ายรูป เขียนคอนเทนต์ ออกแบบโลโก้และผลิตภัณฑ์ ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การตั้งระบบตัวแทนจำหน่าย ฯลฯ คือน้องๆ ช่วยเหลือครบทุกอย่าง ทำให้รู้ว่าโลกออนไลน์ก็สร้างรายได้ให้เราได้เหมือนกัน”

จากทนายสาวที่งานรัดตัว วาสนาต้องแบ่งเวลามาเป็นแม่ค้าน้ำพริก เป็นที่มาของ “น้ำพริกบ้านทนาย” ที่มีสินค้าอร่อยเด็ด ไม่ใช้น้ำมัน ไม่ใส่สารกันบูด ทั้งน้ำพริกเผา น้ำพริกเผาแมงดา น้ำพริกปลาย่างแมงดา น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาร้า ฯลฯ ขายผ่านช่องทางเฟซบุ๊กส่งทั่วไทย

ผ่านไปแค่เดือนเดียว วาสนาก็เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ยอดสั่งซื้อน้ำพริกเข้ามามากขึ้น จนต้องหาวิธีบริหารการจัดส่งและตั้งตัวแทนเพื่อรับคำสั่งซื้อ รายได้จากเดิมเดือนละราวหมื่นบาทก็พุ่งขึ้นเรื่อยๆ พอขายน้ำพริกออนไลน์ไปได้ 3 เดือน ยอดขายน้ำพริกจากเดิมซึ่งอยู่ที่ราว 100 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ก็เพิ่มเป็น 700 กิโลกรัมต่อสัปดาห์

วาสนาที่ต้องการวางรากฐานการขายน้ำพริกให้มั่นคงเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน จึงคิดถึงการทำผลิตภัณฑ์ให้ปลอดภัยมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือเรื่องวัตถุดิบ เกิดเป็นสวนปลูกพริก ตะไคร้ กระชาย แตงกวา ฯลฯ เพื่อส่งทำน้ำพริก เท่านั้นไม่พอ ทนายสาวยังเปิดร้านกาแฟเพื่อเป็นช่องทางขายน้ำพริก เป็นพื้นที่ให้ตัวแทนมารับน้ำพริกไปขาย แถมผลพลอยได้ยังเป็นลูกความที่มานั่งพูดคุยปรึกษาคดีกับเธอด้วย

การเติบโตของ “น้ำพริกบ้านทนาย” นำความภาคภูมิใจมาสู่ชีวิตของวาสนาและทุกคน เนื่องจากเธอมีโอกาสนำสินค้าเข้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันดินโลก

ปีที่ผ่านมา “น้ำพริกบ้านทนาย” ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะขายออนไลน์ ส่วนปีนี้ ยอดขายยังคงวิ่งฉิวเหมือนเดิม แต่ได้รับผลกระทบบ้างเรื่องการออกบูธ และหากขึ้นทะเบียนกับ อย. เรียบร้อยเมื่อไหร่ “น้ำพริกบ้านทนาย” ก็อาจเฉิดฉายอยู่ในร้านสะดวกซื้อ และมีแนวโน้มไปไกลถึงตลาดต่างประเทศ

“ตลาดออนไลน์เป็นตลาดที่กว้าง โอกาสของเราก็จะเยอะขึ้น อยากให้ผู้ค้ารายย่อยทุกคนลองเปิดประสบการณ์ตัวเอง อย่าท้อ และอย่าอายว่าโพสต์ไปหลายครั้งแล้วทำไมยังขายของไม่ได้ ถ้าโพสต์นี้ขายไม่ได้ โพสต์หน้าอาจขายได้” วาสนาปิดท้ายให้กำลังใจ

ปักหมุดร้านเด็ด “เจ๊แมว ข้าวต้มนักเลง”

ไชโป๊วผัดไข่ ผัดผักบุ้ง คะน้าหมูกรอบ ยำไข่เค็ม ยำปูแซ่บ กุ้งยำ และอีกสารพัดอาหารที่วางเรียงรายนับสิบถาด ไม่นับของหวานอย่างลูกลานเชื่อม มะตูมเชื่อม คือส่วนหนึ่งของเมนูอร่อยร้าน “เจ๊แมว ข้าวต้มนักเลง” ที่ทำเอาคนเดินผ่านไปผ่านมาน้ำลายสอจนต้องแวะชิมเอาได้ง่ายๆ

“แม่เป็นคนห้าวๆ ลุยๆ เสียงดังในตลาด พอเปิดร้านขายข้าวต้มก็คิดว่าเอาชื่อที่สะท้อนตัวตนแม่นี่แหละ คนจะได้จำได้” สุวรรณี สุธาพจน์ ลูกสาว “เจ๊แมว” เกริ่นถึงที่มาของชื่อข้าวต้มร้านดังประจำตลาดอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่เปิดทุกวันตั้งแต่ตี 5 ถึง 10 โมง และเปิดอีกทีตั้งแต่บ่าย 3 โมง ถึง 2 ทุ่ม มีจุดเด่นอยู่ที่ “ยำ” ซึ่งใช้วัตถุดิบที่มีตามฤดูกาลมาปรุงรสให้แซ่บจัดจ้านถึงใจ

แต่เดิมแม่ของสุวรรณีเปิดแผงขายข้าวต้มอยู่ที่ตลาด กระทั่งสุวรรณีกลับมาอยู่บ้านก็มาช่วยแม่อีกแรงหนึ่ง หากแม่อยู่ร้าน เธอจะไปขายข้าวต้มที่ตลาดนัด แต่ถ้าแม่ขายที่ตลาดนัด สุวรรณีจะอยู่ร้าน สลับกันสองแรงแข็งขัน

วันหนึ่ง สุวรรณีเห็นว่าโครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” กำลังเปิดรับสมัครผู้สนใจเริ่มธุรกิจออนไลน์ เธอเห็นว่าเข้าท่าจึงสมัครเข้าร่วม

“เราไม่ค่อยรู้เรื่องอินเทอร์เน็ต เวลาโพสต์ก็มีแต่รูปไปเที่ยวหรือกิจกรรมในครอบครัว แต่เห็นว่าเขาสอนตั้งแต่ขั้นต้นอย่างการถ่ายรูปสินค้าด้วยโทรศัพท์มือถือ การโพสต์ให้ลูกค้าสนใจ ก็เลยลองดู อีกอย่างปีที่แล้วเราเจอปัญหาโควิด เป็นหนี้ อะไรที่ช่วยได้ก็น่าลอง

“ตอนแรกเราคิดว่าโพสต์ขายของออนไลน์ไม่น่าจะทำให้มีรายได้เยอะขึ้น แต่กลายเป็นว่าคนอยู่ไกลมาเที่ยวบ้านเรา เขาเปิดกูเกิล แม็ป มาร้านข้าวต้มเจ๊แมว หรือเราไปออกงาน คนจากภูเก็ตมาเที่ยวก็แวะกิน หรือมีคนเอารำวงมาลง เราไปออกร้านแถวนั้น พอเขาเห็นชื่อร้านเจ๊แมว ข้าวต้มนักเลง เขาก็รู้จักแล้วบอกเพื่อนซื้อเลยๆ” สุวรรณีเล่า

นอกจากจะปรับตัวขายข้าวต้มผ่านช่องทางออนไลน์ช่วงโควิด-19 ระบาดเมื่อปีที่แล้ว สุวรรณียังฮึดสู้ตามคำแนะนำของทีม “ดีแทค เน็ตทำกิน” ด้วยการจัดโปรโมชั่นเป็นเซ็ตกับข้าว 3 อย่างพร้อมข้าวต้มในราคา 100 บาท จากปกติราคา 150 บาท ใส่บรรจุภัณฑ์ให้ดูน่ากิน พร้อมอัดโปรโมชั่นส่งฟรีในรัศมีใกล้เคียง

แม้ยอดขายจะลดจากช่วงปกติที่รายได้เฉลี่ยต่อวันทั้งรอบเช้ารอบเย็นรวมกันประมาณ 6,000-7,000 บาท แต่อย่างน้อยก็ยังพอทำให้สุวรรณีและแม่มีทุนรอนขายข้าวต้มต่อได้อย่างไม่ลำบาก และสามารถยืนหยัดฝ่าโควิด-19 จนเป็นที่รู้จักในโลกออนไลน์และสร้างรายได้มากขึ้นมาถึงตอนนี้

ใครที่สนใจพาธุรกิจลุยต่อให้รอดในยุคโควิด-19 “ดีแทค เน็ตทำกิน” เปิดรับสมัครผู้ประกอบการรายย่อย 100 รายจากทั่วประเทศ มาเข้ารับการอบรมในโครงการเป็นเวลา 6 เดือน โดยมีทีมพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด และดีแทคจะช่วยสนับสนุนร้านของผู้เข้าร่วมผ่านช่องทางต่างๆ ของดีแทค เพื่อพาธุรกิจของทุกคนไปสู่ความสำเร็จ

ติดตามรายละเอียดและสมัครเข้าร่วม “ดีแทค เน็ตทำกิน” ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ www.dtac.co.th/NetforLiving


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน