วนลูปไปแบบนี้ทุกปี สำหรับเรื่องของ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่พอถึงปลายปีก็ต้องเตรียมสรุปเงินได้ทั้งหมด มาจัดทำฐานภาษี ซึ่งบางคนก็มีค่าลดหย่อนต่างๆ ที่ต้องมานั่งคิดคำนวณภาษีปลายปีกันล่วงหน้า ว่าปีนี้จะลดหย่อนได้แค่ไหน จะได้เงินภาษีคืนไหม หรือต้องจ่ายเพิ่มอีกเท่าไหร่

ซึ่งในปี 2560 นี้ มีการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ เพิ่มค่าลดหย่อนส่วนตัว พร้อมหักวงเงินใช้จ่าย ช่วยให้คนไทยเสียภาษีน้อยลง

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีประเภทหนึ่งตามประมวลกฎหมายรัษฎากร โดยมีบุคคลธรรมดาเป็นผู้เสียภาษีเมื่อมีรายได้ และยิ่งมีรายได้มากเท่าไหร่ อัตราภาษีก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น เรียกว่า อัตราเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งปัจจุบันมีอัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 35% โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบการจัดเก็บ

รู้จักเจ้าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันไปแล้ว เรากลับมาเรื่องของเรากันดีกว่า อย่างที่ได้บอกไป ว่าการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในครั้งนี้ จะช่วยให้คุณได้รับประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อนภาษี ที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณเสียภาษีในแต่ละเดือนลดลง อีกทั้งยังส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย เพราะคุณจะมีกำลังช้อปมากขึ้นยังไงล่ะคะ ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างภาษี มีรายละเอียด ดังนี้

  • หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินเดือนทั้งปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่าลดหย่อน สำหรับผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อน สำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท แต่ในกรณีที่คู่สมรสต่างมีเงินได้ ให้หักรวมกันได้ ไม่เกิน 120,000 บาท
  • ค่าลดหย่อน สำหรับบุตร 30,000 บาท ต่อคน ไม่จำกัดจำนวน
  • ค่าลดหย่อน สำหรับกองมรดก 60,000 บาท
  • ค่าลดหย่อน สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคล ที่มิใช่นิติบุคคล ให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วน คนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

การจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่

มาเช็คกันดีกว่าว่า เงินเดือนเท่านี้ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่

  • สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่ถึง 150,000 บาท / ปี จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษี
  • สำหรับผู้ที่มีรายได้ 150,001 – 300,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 5%
  • สำหรับผู้ที่มีรายได้ 300,0001 – 500,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 10%
  • สำหรับผู้ที่มีรายได้ 500,001 – 750,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 15%
  • สำหรับผู้ที่มีรายได้ 750,001 – 1,000,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 20%
  • สำหรับผู้ที่มีรายได้ 1,000,001 – 2,000,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 25%
  • สำหรับผู้ที่มีรายได้ 2,000,001 – 5,000,000 บาท / ปี จะต้องเสียภาษี 30%
  • สำหรับผู้ที่มีรายได้ 5,000,001 บาทขึ้นไป / ปี จะต้องเสียภาษี 35%

คำนวณภาษีปลายปี ทำอย่างไร ?

อย่าไปซีเรียส เพราะหากคุณเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆทั่วไป คุณก็ไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีเลย แต่ถ้าหากคุณอยากรู้เรื่องการคำนวณภาษี เผื่อได้ใช้เวลาที่คุณได้อัพเงินเดือนแล้วล่ะก็ วันนี้เรามีตัวอย่างการคำนวณอย่างง่าย ๆ มาฝากกันค่ะ

นายเอเป็นพนักงานบริษัท ที่มีเงินได้พึงประเมินต่อปี 250,000 บาท หากนายเอหักค่าใช้จ่ายไป 60,000 บาท และหักค่าลดหย่อนส่วนตัวไป 30,000 บาท และค่าประกันสังคมไปอีก 9,000 บาท ซึ่งนายเอไม่ได้ทำบุญบริจาคเงิน จึงไม่ได้ลดหย่อนตรงส่วนนี้ และนายเอก็ไม่ได้ทำประกันชีวิตจึงไม่ได้ลดหย่อนตรงส่วนนี้เช่นกัน ทำให้มีนายเอมีเงินได้สุทธิอยู่ที่ 151,000 บาท

จากตัวอย่างที่คำนวณภาษีมาให้ดู นี่คือตัวอย่างที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่เป็นกัน เมื่อคำนวณรายได้ทั้งปีจะเข้าเกณฑ์เสียภาษีในกลุ่มรายได้สุทธิ ในช่วง 150,001 – 300,000 บาท เท่ากับว่าต้องเสียภาษี 5% นั่นเอง

ฉะนั้นแล้วแต่ละคนก็จะมีการลดหย่อนภาษีที่ไม่เท่ากัน แต่หากเป็นคนที่มีรายได้สูง คนประเภทนี้มักจะใช้เงินไปกับการวางแผนอนาคต หรือพูดง่ายๆว่าเป็นพวกที่มองการณ์ไกล ไม่ว่าจะเป็นการซื้อกองทุน ซื้อ ประกันชีวิต ซื้อบ้าน ผ่อนบ้าน ในกรณีนี้จึงสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้หลายแบบเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หลายคนมักเข้าใจผิดว่า ในประเทศเรามีแค่การคำนวณภาษีแบบขั้นบันไดแค่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากคุณมีรายได้ทางอื่นนอกเหนือจากเงินเดือน คุณก็จะต้องใช้วิธีคำนวณภาษีแบบเหมาจ่าย 0.5% มาคำนวณคู่กันด้วย

ทริคเล็กๆ การคำนวณภาษีแบบเหมาจ่าย 0.5%

วิธีคำนวณ คือ

เงินได้ที่ไม่ใช่เงินเดือน x 0.005 = ค่าภาษี

แต่เดี๋ยวก่อน การคำนวณภาษี แบบเหมาจ่าย 0.5% นี้จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อ คุณเข้าเงื่อนไขครบทุกข้อต่อไปนี้เท่านั้นนะคะ

  • คำนวณแล้วเกิน 5,000 บาท ในกรณีนี้แสดงว่าคุณมีรายได้ทุกทาง ยกเว้นเงินเดือน ซึ่งรวมกันแล้วเกิน 1,000,000 บาท
  • คำนวณภาษีแบบเหมาจ่ายแล้วได้มากกว่าคำนวณภาษีแบบขั้นบันได

รู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมนำความรู้ไปบอกต่อเพื่อนๆกันด้วยนะคะ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน