เกษตรกรสุราษฎร์ฯ รวมกลุ่มแปลงใหญ่เพาะเห็ดฟางจากทะลายปาล์ม พัฒนาคุณภาพ ตั้งเป้าสู่การผลิตเห็ดอินทรีย์ แปลงใหญ่เห็ดฟางตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปลื้ม!! จากวิสาหกิจชุมชนก้าวสู่แปลงใหญ่เรียนรู้จากต้นแบบ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนรายได้เสริมเป็นรายได้หลักอย่างมั่นคง

นายอเนก แสงเอม ประธานแปลงใหญ่เห็ดฟางตำบลคลองพา ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ในตำบลคลองพา ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นอาชีพหลัก ในพื้นที่จึงมีทะลายปาล์ม หรือซังปาล์มเป็นวัสดุเศษเหลือจากโรงงาน เมื่อปี 2561 ตนและเกษตรกรในชุมชนจึงได้ศึกษาเกี่ยวกับการเพาะเห็ดฟางโดยใช้ทะลายปาล์ม แรกเริ่มเพาะแบบกองเตี้ยก่อน พบปัญหาไม่สามารถควบคุมคุณภาพได้ต่อเนื่อง ต่อมาในปี 2562 ได้รวบรวมสมาชิกจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนเห็ดฟางบ้านขวัญพัฒนาขึ้นโดยได้รับคำแนะนำจากสำนักงานเกษตรอำเภอท่าชนะ เดิมมีสมาชิก 20 กว่าคน ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 50 คน ในปี 2563 กลุ่มได้ไปศึกษาดูงานแปลงใหญ่เห็ดฟางตำบลช่องไม้แก้ว อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นแปลงใหญ่เห็ดฟางแห่งแรกของภาคใต้ เพาะแบบโรงเรือนโดยใช้ทะลายปาล์ม กลุ่มจึงได้วิธีการสร้างโรงเรือนและความรู้ด้านการผลิตมาปรับเปลี่ยนเป็นการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน โดยช่วงแรกได้ทดลอง 3-4 คน ปัจจุบันปรับเปลี่ยนไปทำแบบโรงเรือนแล้วทุกราย ปี 2564 ได้ขอจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่กับกรมส่งเสริมการเกษตร ปัจจุบันมีโรงเรือนจำนวน 80 หลัง และกำลังขยายเพิ่มให้ได้ครอบครัวละ 4-5 หลัง จะได้มีผลผลิตต่อเนื่องและแรงงานในครัวเรือนดูแลได้ทั่วถึง สำหรับการเพาะเห็ดฟางของกลุ่ม จะสร้างโรงเรือนขนาด 4X7 เมตร ใช้ผ้ายางคลุม และติดตั้งระบบน้ำพ่นฝอย 1 โรง จะมีชั้นวาง 2 แถวๆ ละ 4 ชั้น ขนาดชั้นวาง 1×6 เมตร รวมพื้นที่วางวัสดุเพาะ 48 ตารางเมตร การเพาะเห็ดแต่ละครั้งใช้ทะลายปาล์มประมาณ 13 ตัน ซื้อในพื้นที่ครั้งละ 9,000 บาท ก่อนเพาะต้องนำทะลายปาล์มมาหมักเป็นเวลา 30 วัน จากนั้นจัดเรียงบนชั้นแต่ละชั้นวางสูงประมาณ 15 เซนติเมตร และทำการอบไอน้ำจากหม้อต้มน้ำโดยใช้ฟืนให้ได้อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เพื่อฆ่าเชื้อ และหนอน เป็นเวลา 6-7 ชม. แล้วทิ้งให้เย็น 1 วัน จากนั้นทำการโรยเชื้อเห็ดฟาง แล้วฉีดน้ำเป็นฝอยให้เชื้อเห็ดพอชุ่มปิดประตูทิ้งไว้ 3 คืน เส้นใยเห็ดฟางฟูขึ้นเจริญแผ่กระจายโดยรอบก็ทำการฉีดน้ำเพื่อตัดใย จากนั้นประมาณ 5 วันจะเริ่มเก็บดอกได้ และมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน 1 รอบใช้เวลา 40-50 วัน จากนั้นทำการรื้อซังปาล์มออก 2 วันและพักโรงเรือน 2 วัน จึงจะลงรอบใหม่ เมื่อเข้าสู่แปลงใหญ่ สมาชิกได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ มีการควบคุมคุณภาพสม่ำเสมอ ทำให้ผลผลิตที่ออกมาคุณภาพดี ดอกใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด ได้ขอรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว และมีแผนดำเนินการขอรับรองให้ได้ครบทุกแปลงในปี 2564 ปัจจุบันเก็บผลผลิตรวมกันได้ประมาณ 1 ตันต่อวัน ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60-80 บาท ทุกวันพ่อค้าจะเข้ามารับที่จุดรวบรวมในประมาณ 11.00 น. และรีบขนส่งไปยังตลาดหลักใกรุงเทพมหานคร ต้นทุนโรงเรือนประมาณ 40,000 บาทต่อหลัง ซึ่ง 1-2 รอบการผลิตก็สามารถคืนทุนได้ ข้อดีของการเพาะเห็ดแบบนี้คือไม่ได้ใช้สารเคมีในการฆ่าเชื้อวัสดุเพาะแต่ใช้การอบไอน้ำแทน จัดการง่ายเพราะอยู่ใกล้ที่พัก ไม่ต้องย้ายที่บ่อยๆ ควบคุมสภาวะแวดล้อมได้ดีกว่า ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สำหรับผลผลิตที่คุณภาพตกเกรด ดอกเล็กหรือดอกบาน ก็นำมาแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์เห็ด ได้แก่ แหนมเห็ด เห็ดดองปรุงรส และข้าวเกรียบเห็ด ซึ่งกลุ่มมีแผนที่จะดำเนินการเพิ่มมูลค่าและสร้างโรงเรือนแปรรูป รวมถึงการขอมาตรฐาน อย.ในระยะต่อไป

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้แปลงใหญ่เห็ดฟางทั่วประเทศมีทั้งหมด 10 แปลง ในส่วนภาคใต้แปลงใหญ่ตำบลช่องไม้แก้ว อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพรเป็นแปลงแรก และแปลงใหญ่เห็ดฟางตำบลคลองพา อำเภอท่าชนะ เป็นแปลงที่ 2 ซึ่งได้ไปเรียนรู้จากแปลงต้นแบบมาจากชุมพร นำนวัตกรรมการก่อสร้างโรงเรือน และกระบวนการผลิตมาพัฒนาแปลง ตามแนวทางแปลงใหญ่ใน 5 ด้าน คือ

1) การลดต้นทุน โดยเลือกและใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม การใช้วัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดที่หมดอายุแล้วทำปุ๋ย

2) การเพิ่มผลผลิต โดยการควบคุมสภาวะการให้น้ำ การใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืช

3) การพัฒนาคุณภาพ ดำเนินการผลิตตามมาตรฐาน GAP และตั้งเป้าหมายการผลิตเห็ดอินทรีย์ ซึ่งกลุ่มใช้การอบวัสดุเพาะและฆ่าเชื้อในโรงเห็ดแทนการใช้ยาฆ่าหนอนและใช้น้ำหมัก

4) ด้านการตลาดและเชื่อมโยงการตลาด มีการจัดทำแผนธุรกิจ การรวบรวมผลผลิตและเชื่อมโยงเครือข่ายพ่อค้าจากนอกพื้นที่ และประเด็นสุดท้ายคือ

5) การบริหารจัดการ ดำเนินการรูปแบบวิสาหกิจชุมชน มีการบริหารจัดการกลุ่มที่เข้มแข็ง โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีและสำนักงานเกษตรอำเภอท่าชนะเป็นหน่วยงานหลักที่ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความรู้ พัฒนากลุ่ม ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยรัฐจะสนับสนุนงบประมาณให้ใน 3 ปีแรก ตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างแปลงใหญ่ที่สามารถพัฒนาศักยภาพตัวเองในการสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนเป็นอย่างดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน