ผู้ว่า กยท. แจงขั้นตอนหลังออกประกาศการอนุญาตให้เจ้าของสวนยางโค่นต้นยางพาราก่อนได้รับอนุมัติการปลูกแทน ปี 64 มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ให้ยื่นแจ้ง กยท.ในพื้นที่ก่อนเพื่อตรวจสอบ พร้อมเปิด 2 ทางเลือกสร้างเงิน ย้ำได้ประโยชน์เต็มเช่นเดิมไร่ละ 16,000 บาท

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กยท.ออกประกาศ เรื่อง การอนุญาตให้เจ้าของสวนยางโค่นต้นยางพาราก่อนได้รับอนุมัติการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ. 2564 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในการเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการโค่นไม้ยางพาราซึ่งกำลังมีราคาดีในขณะนี้ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบกิจการไม้ยางพารา ให้มีวัตถุดิบไม้ยางเพียงพอสำหรับแปรรูปไม้ในสถานการณ์ที่ตลาดมีความต้องการ ซึ่งเป็นอีกนโยบายที่ กยท.ได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีวัตถุดิบไม้ยางเพียงพอต่อความต้องการ ดังจะเห็นได้จากนโยบายการผลักดันให้อุตสาหกรรมไม้ยางของไทยมีความก้าวหน้าและเติบโต เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท มีเป้าหมายสนับสนุนผู้ประกอบกิจการยาง ขั้นปลายน้ำ ในการขยายกำลังการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ซึ่งหมดเขตรับสมัครในเดือนธันวาคม 2564 นี้ เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบไม้ยางพารา ภายใต้นโยบายลดพื้นที่การปลูกยาง จากเดิมที่จำนวน 200,000 ไร่ต่อปี เป็น 400,000 ไร่ต่อปี เพื่อให้ปริมาณไม้ยางมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ ในส่วนของไม้ยางและไม้วู๊ดพาเลท สำหรับในปี 2564 นี้มีเกษตรกรชาวสวนยางต้องการโค่นต้นยางพารา จำนวน 470,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่ 70,000ไร่ที่เกินมา กยท. จะจัดสรรการสงเคราะห์ตามลำดับ หากเกินเป้าของงบประมาณในปีนี้ เกษตรกรจะได้รับเงินสงเคราะห์ในปีงบประมาณ 2565

“สถานการณ์ของอุตสาหกรรมไม้ยางพาราในขณะนี้มีการปรับตัวที่ดีขึ้น หนึ่งในปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ ประเทศจีน ซึ่ง กยท.ได้คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2564 -2565 อุตสาหกรรมไม้ยางพาราจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นกว่า 10 เปอร์เซนต์ ด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงส่งผลให้มีความต้องการไม้ยางเพิ่มมากขึ้นและนำมาซึ่งการปรับราคารับซื้อไม้ยางพาราสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนยางพาราจึงใช้โอกาสนี้โค่นต้นยางจำหน่าย ซึ่งทาง กยท.มีความเข้าใจและเห็นด้วยที่จะใช้โอกาสนี้ในการสร้างประโยชน์ด้านรายได้ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ ทั้งหมดจึงเป็นเหตุผลสำคัญในการออกประกาศดังกล่าว”

นายณกรณ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ตามประกาศของ กยท. จะมีขั้นตอนที่แตกต่างจากเดิม และง่ายต่อการปฏิบัติ คือ กำหนดให้เกษตรกรเจ้าของสวนยางห้ามโค่นยางก่อนได้รับอนุมัติ โดยแนวทางปฏิบัตินั้นเกษตรกรที่มีความประสงค์จะโค่นต้นยางต้องยื่นคำร้องรับการปลูกแทนฯ ที่การยางแห่งประเทศไทยจังหวัด หรือการยางแห่งประเทศไทยสาขา ที่สวนยางของเกษตรกรตั้งอยู่ หลังจากที่การยางแห่งประเทศไทยจังหวัด หรือการยางแห่งประเทศไทยสาขา ได้รับคำร้องแล้ว จะมีการจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจรังวัด เพื่อตรวจสภาพพื้นที่แปลงปลูก หากสวนยางเข้าหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 4 มาตรา 37พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และระเบียบการยางแห่ง ประเทศไทย ว่าด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ. 2558 จึงจะอนุญาตให้โค่นต้นยางได้

นายณกรณ์ กล่าวต่อไปว่า โดยหลังจากได้รับการอนุมัติ และเกษตรกรได้ดำเนินการโค่นต้นยางแล้ว ในส่วนทางเลือกของเกษตรกรนั้น ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า เกษตรกรสามารถเลือกได้ 2 แนวทางคือ หนึ่ง กรณีเกษตรกรเจ้าของสวนยางที่รอการปลูกยางหรือไม้ยืนต้นไปถึงปีที่ได้รับอนุมัติให้การปลูกแทน กรณีนี้เกษตรกรเจ้าของสวนยางจะได้รับการปลูกแทนตามปกติ คือที่อัตราไร่ละ 16,000 บาท และสอง กรณีเจ้าของสวนยางต้องการใช้ประโยชน์ของที่ดินเพื่อการอื่นไปก่อนในช่วงระหว่างรอเวลาการปลูกทดแทน กยท. พร้อมให้การสนับสนุนทางด้านอาชีพเสริมและให้บริการทางด้านวิชาการ เช่น การใช้ประโยชน์จากพื้นที่สวนยางพาราในการปลูกพืชล้มลุกพืชระยะสั้น หรือการทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งเป็นรูปแบบการประกอบอาชีพที่ กยท.กำลังดำเนินการเร่งส่งเสริมและสนับสนุน และเมื่อถึงกำหนดเวลาที่ได้รับอนุมัติการปลูกแทนในปีใดตามที่ กยท.กำหนด เกษตรกรเจ้าของสวนยางก็จะได้รับการปลูกแทนตามปกติ ในอัตรา ไร่ละ 16,000 บาท

“การสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ยาง คือเป้าหมายสำคัญของ กยท. ซึ่งการออกประกาศ การอนุญาตให้เจ้าของสวนยางโค่นต้นยางก่อนได้รับอนุมัติการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน พ.ศ. 2564 ครั้งนี้ เป็นอีกการส่งเสริมและสนับสนุนเหมือนกับมาตรการและนโยบายอื่นๆ ที่ กยท.ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง กยท.พยายามดูแลอย่างครบวงจรทั้งในส่วนของเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพราะไม้ยางพารานั้น ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เรียกว่า กรีน อินดัสเตรียล ที่รัฐบาล และ กยท.กำลังดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งในวันนี้และในอนาคต”นายณกรณ์ กล่าวในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน