ถึงแม้รัฐบาลจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมา ทำหน้าที่กำกับนโยบายทรัพยากรน้ำของประเทศ (Regulator) เพียงหนึ่งเดียว

แต่การบูรณาการการทำงานกับ 48 หน่วยงานด้านน้ำที่กระจายอยู่ในหลายกระทรวงในฐานะหน่วยปฏิบัติ (Operators) นั้น ไม่ง่ายเลย

ปะเหมาะเคราะห์ร้าย ก็เป็นเสือกระดาษเอาได้เหมือนกัน

แต่ครั้นเมื่อ สทนช. สามารถผนึกกำลังกับ Regulators อื่นได้ เช่น สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย ดังนั้น จึงทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองแผนงานโครงการและงบประมาณไปด้วย ท่ามกลางความตกตะลึงอยู่ไม่น้อย

น่าจะเพียงพอในแง่การคัดกรอง แต่ยังไม่ดีพอ ไม่รวดเร็วพอ เพราะถ้าใช้มือคนอย่างเดียวก็เจอปัญหาความล่าช้า ไม่ทันการณ์ บวกกับเวลาที่จำกัด จึงเป็นที่มาของแนวความคิดนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อความคล่องตัว สะดวก รวดเร็ว เพราะเทคโนโลยียุคใหม่มีลูกเล่นมากกว่าเดิม ฉลาดกว่าเดิม และที่สำคัญซื่อสัตย์

ลองนึกถึงหุ่นยนต์ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ในการนำมาช่วยทำงานสำคัญต่างๆ ที่มนุษย์มีข้อจำกัด ทำได้ช้า ขาดรายละเอียดและความแม่นยำเท่า

แอพพลิเคชั่น Thai Water Plan (TWP) ก็เป็นทำนองนั้น ที่ออกแบบมาเพื่อ

ลดความซ้ำซ้อนของโครงการ ลดภาวะมือใครยาวสาวได้สาวเอา การเข้าถึงโครงการจะเป็นไปตามกติกาที่กำหนด ลดการโมเมพื้นที่โครงการผิดไปจากความเป็นจริงด้วยพิกัดแผนที่ ติดตามความก้าวหน้า และการเบิกจ่ายโครงการได้

เรียกว่า เอาข้อมูลทุกอย่างแบลงในระบบฐานข้อมูล ในรูปแผนที่ ตาราง การประมวลผล ชนิดปกปิดไม่ได้ เป็นความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้ทั้งย้อนหลังจนปัจจุบัน และมองเห็นถึงอนาคต

กลุ่มที่ต้องนำเข้าข้อมูล แผนงานโครงการและงบประมาณ เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของ TWP ได้แก่ หน่วยงานน้ำ 48 หน่วยงานโดยตรง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล (ทบ.) ที่จะเข้ามาสมทบในอนาคต

ระบบที่ออกแบบไว้ จะโปรแกรมให้ยอมรับเฉพาะข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ของข้อมูลสำหรับการลงทะเบียน ไม่ต่างจากการลงทะเบียนวัคซีนของแอพหมอพร้อม ถ้าใส่ข้อมูลผิด ไม่ครบถ้วน เท่ากับลงทะเบียนไม่ได้ นัดหมายฉีดวัคซีนไม่ได้ เช่นกัน

แผนงานโครงการด้านน้ำ จะมีความละเอียดมากกว่าแอพหมอพร้อม โดย สทนช. ดำเนินการจัดอบรมและจัดทำคู่มือให้หน่วยงานเหล่านี้ใช้อยู่แล้วในขณะนี้

ในฐานะผู้กำกับ (Regulator) สทนช. อาศัยชุดข้อมูลเหล่านี้ ทำการวิเคราะห์ ประมวลผล ทำให้เห็นภาพชัดในทุกพื้นที่ จะรู้ว่ามีกี่หน่วยงานเข้าไปดำเนินการ ใครเป็นเจ้าภาพ ลักษณะรายละเอียดโครงการ แผนงาน งบประมาณ ทับซ้อนกันไหม และ ฯลฯ ซึ่งจะง่ายต่อการตัดสินใจคัดกรอง จัดเรียงลำดับความสำคัญ

“เป็นประตูแรกในการแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าว

ทั้งนี้ แอพ TWP ในขณะนี้ มีฐานข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2564 และงบประมาณ 2565 เท่ากับรู้ภาพแผนงานโครงการและงบประมาณในอดีตจนถึงปัจจุบัน (2563 – 3564) และอนาคต (2565)

“ยิ่งมีการนำเข้าข้อมูลล่วงหน้า เราสามารถพิจารณาได้เร็วขึ้น และจะส่งต่อถึงสำนักงบประมาณได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารอรายงาน”

นอกจากหน่วยงานน้ำจะเป็นผู้เสนอแผนงานโครงการแล้ว สทนช. ยังสามารถระบุให้หน่วยงานใดจัดทำแผนงานโครงการด้วยก็ได้ หากพบว่ามีความจำเป็นและไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพ

ต่อไป เมื่อ อปท. นำเข้าข้อมูล จะมีการระบุแหล่งน้ำ เจ้าภาพ พิกัด องค์กรผู้ใช้น้ำ ความต้องการใช้น้ำ จะทำให้ TWP มีความสมบูรณ์ในเชิงพื้นที่ยิ่งขึ้น

“อย่างแหล่งน้ำขนาดเล็กกว่า 1.4 แสนแห่ง เราเองไม่รู้ทั้งหมด อยู่ตรงไหน พิกัดอะไร มีความจุเท่าไหร่ ใครใช้น้ำ ใครเป็นเจ้าภาพ ถ้าดึงเอาข้อมูลเหล่านี้เข้ามาได้ จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ยิ่งขึ้น และพ่วงทะเบียนแหล่งน้ำ นอกเหนือจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีสมบูรณ์อยู่แล้ว ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

สำหรับประชาชนทั่วไป สทนช. เปิดให้ประชาชนเข้าไปดูข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง เพื่อติดตามสถานภาพของโครงการ เปิดให้มีส่วนร่วมรับรู้อีกทางหนึ่งด้วย นอกเหนือจากคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตลอดจากองค์กรผู้ใช้น้ำในพื้นที่นั้นๆโดยตรงอยู่แล้ว

การพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำ การปรับปรุงฟื้นฟูต้นน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ จะไม่เป็นความลับอีกต่อไป

TWP คล้ายคัมภีร์ให้ผู้คน หน่วยงาน เข้าถึงข้อมูลเรื่องน้ำ มีความโปร่งใส ไม่อาจลับๆ ล่อๆ ปิดกั้นแบบเดิมๆ ได้อีกแล้ว

ที่สำคัญ เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล ติดตาม และตรวจสอบ

แผนงานโครงการน้ำและงบประมาณไม่เป็นความลับอีกต่อไป

เป็นผลงานชิ้นโบแดงของ สทนช.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน