คณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “นวัตกรรมและอุตสาหกรรมอัจฉริยะ : โอกาสหรือความอยู่รอดของธุรกิจและแรงงานไทยในอนาคต” โดย ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางนวัตกรรมและอุตสาหกรรมอัจฉริยะ” และการเสวนา “นวัตกรรมและอุตสาหกรรมอัจฉริยะ : โอกาสหรือความอยู่รอดของธุรกิจและแรงงานไทยในอนาคต” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ดร.พิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟวอเรจ และ นายพิชาติ อังจันทร์เพ็ญ Project Directer-MARS บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) ร่วมเสวนา ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ.

ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ ที่ปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า การสัมมนาวิชาการ” “นวัตกรรมและอุตสาหกรรมอัจฉริยะ : โอกาสหรือความอยู่รอดของธุรกิจและแรงงานไทยในอนาคต”จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ในเรื่องนวัตกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ AI : Artificial Intelligence ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่แก่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ผู้บริหารทั้งในระดับกลางและระดับสูง และบุคลากรในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมเพื่อนำไปพัฒนาหรือประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการบริการเพื่อให้สินค้าและบริการมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และนักวิชาการของ มจพ. ในการพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ อุตสาหกรรมซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน และถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการประชารัฐของรัฐบาลในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม

“ขณะนี้อุตสาหกรรมประสบภาวะขาดแคลนแรงงานทั้งในด้านปริมาณและทักษะฝีมือ ดังนั้นนอกจากการผลิตกำลังคนให้เพียงพอแล้ว จำเป็นจะต้องพัฒนาคนที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิตและการบริการ ที่มจพ.ทำอยู่ในขณะนี้ เช่น การเปิดอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้คนที่ทำงานอยู่แล้วมาเรียนภาคค่ำหรือเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนี้เรามีศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่วิทยาเขตระยอง โดยร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 18 แห่ง เช่น เอสซีจี ปตท. เวสเทิร์นดิจิทัล เบทาโกร บุญรอดบริวเวอรี่ และอีกหลายๆบริษัท รวมทั้งบริษัทที่ผลิตสินค้าโดยใช้ระบบอุตสาหกรรม 4.0 มาร่วมกันพัฒนากำลังคน เอาคนทำงานมาเรียนภาคค่ำ ฝึกให้เขาสามารถซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์อัตโนมัติต่างๆที่ใช้ในการผลิตและบริการรวมไปถึงและการจัดระบบอุตสาหกรรม 4.0 ให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในย่านมาบตาพุดและบ้านค่าย จ.ระยอง เพื่อพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ 4.0 ของรัฐบาล” ศ.ดร.ธีรวุฒิ กล่าว

ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายชัดเจนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยส่งเสริมให้ภาคการผลิตพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางสู่ความมั่งคังและยั่งยืน ทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิมหรือ s curve ควบคู่ไปกับการพัฒนาต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตหรือ new s-curve โดยล่าสุดกระทรวงฯได้มีการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงของการวางแผนเรื่องการผลิตและความต้องการของตลาด ตลอดจนมาตรการทางกฎหมายที่จะส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในด้านการผลิตและการลงทุน รวมถึงความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ เป็นต้น ทั้งยังมีแผนที่จะสร้างศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมในภูมิภาค 12 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละศูนย์จะมีเอกชนรายใหญ่คอยให้ความช่วยเหลือให้ความรู้แก่เอสเอ็มอีในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจและอุตสาหกรรมไปสู่การผลิตและการให้บริการใหม่ๆที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่เอสเอ็มอีซึ่งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า จากการประเมินตนเองและเปรียบเทียบอุตสาหกรรม 4.0ตามแนวทางของเยอรมันพบว่าอุตสาหกรรมไทยในระดับเอสเอ็มอีอยู่ในระดับ 2 เท่านั้น

มีบริษัทขนาดใหญ่ไม่ถึง 5% ที่อยู่ในระดับ 3 ดังนั้นจะต้องสร้างการเรียนรู้ให้กับเอสเอ็มอีให้มีความพร้อมที่จะก้าวสู่4.0 ซึ่งการให้ความรู้ด้านการตลาดอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องปรับโครงสร้างเรื่องต้นทุนและระบบการผลิตคู่กันไปด้วย อย่างการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตและช่วยลดตุ้นทุนด้านแรงงาน ซึ่งปัจจุบันต้นทุนระบบอัตโนมัติลดลง ดังนั้นการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งประเทศตะวันตกใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและค่าแรงมานานแล้ว

ด้านนายพิชาติ อังจันทร์เพ็ญ Project Directer-MARS บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) กล่าวว่า สิ่งที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมในอนาคตคือการขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นนอกจากจะนวัตกรรมสินค้าแล้ว เอสซีจะนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการมากขึ้น แต่จะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาคนเพื่อให้คนสามารถใช้เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติได้ โดยเครื่องจักรจะต้องทำงานร่วมกับคนได้

ขณะที่ ดร.พิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟวอเรจ กล่าวว่า การไปถึงนวัตกรรมต้องมองว่าธุรกิจมีศักยภาพ มีความพร้อมในการนำนวัตกรรมมาใช้หรือไม่ ต่อให้มีการนำระบบอัตโนมัติมาใช้แต่ไม่มีคนบริหารจัดการก็ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือเข้าถึงนวัตกรรมได้ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตหรือการบริหารจัดการต้องดูความพร้อมของธุรกิจ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ขยับจากเล็กๆไปก่อน และที่สำคัญคือจะต้องพัฒนาคนเพือให้สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน