เพื่อตั้งรับกับการที่ประเทศไทยใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการในปี 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ ภาคีสร้างสุข มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเวทีเสวนาออนไลน์ “ก้าวต่อไปของผู้สูงอายุไทย 12 ล้านคน ผู้สูงอายุไทยอยู่ส่วนไหนของโลก” ระดมความเห็น เสนอแนะแนวทาง เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากการเก็บข้อมูลร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยพัฒนาผู้สูงอายุไทย ดร.ณปภัช สัจนวกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ทั่วโลกมีผู้สูงอายุถึง 10% จากประชากรกว่า 8,000 ล้านคน โดยสิงคโปร์เป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเป็นทางการในปี 2565 ซึ่งถือว่าไวกว่าที่ควร และคาดการณ์ว่า ปี 2583 ผู้สูงอายุในไทยจะเพิ่มเป็น 21 ล้านคน โดยผู้มีอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจาก 1.4 ล้านคน เป็น 3.4 ล้านคน แม้อาจถือเป็นวิกฤต แต่ ดร.ณปภัช ยังมองว่า ประชากรสูงวัยเป็นผลจากความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์การแพทย์ การมีอัตราเสียชีวิตของทารกลดลง สามารถคุมกำเนิดได้ดี และผู้คนมีอายุยาวขึ้น

เพื่อให้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ ดร.ณปภัชเห็นว่า ภาครัฐควรหามาตรการช่วยให้ผู้คนสามารถอยู่ในบ้านของตัวเองได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดี มีความมั่นคงทางการเงิน มีอิสระ มีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และส่งเสริมความเป็นธรรมและเท่าเทียม ต้องออกแบบนโยบาย ทำเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็นความมั่นคงทางรายได้ ส่งเสริมให้กลายเป็นสิทธิที่ผู้คนต้องได้แทนวิธีการสงเคราะห์

ด้าน ดร.นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) เห็นว่า สุขภาพของผู้สูงวัยเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่โควิด-19 ระบาด ทำให้ผู้สูงวัยมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต นอกจากนี้ โรงพยาบาลอาจไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยอีกต่อไป ผู้สูงอายุจึงควรดูแลสุขภาพให้มากขึ้น และควรรับวัคซีนให้เร็วที่สุด รวมทั้งเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่พบคือ เรื่องความมั่นคงทางรายได้ของผู้สูงอายุ แต่คนจำนวนมากยังจำเป็นต้องทำงานโดยเฉพาะงานรับจ้างอยู่ เมื่อโควิด-19 ระบาด จึงไม่สามารถอกไปทำงานได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทำให้ขาดการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ จนเสียโอกาสรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

ส่วน วิรัตน์ สมัครพงศ์ (ครูรัตน์) เจ้าของเพจ เกษียณแล้ว ทำไรดีวะ? By KruRat เห็นว่า ผู้สูงวัยควรหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและอาจเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ โดยเริ่มจากการหาสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัด แม้ช่วงแรกอาจยากลำบาก แต่ขอเพียงมุ่งมั่นและค่อยๆ ไปให้ถึงเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาต้องอาศัยความเข้าใจและการช่วยเหลือจากครอบครัวด้วยเช่นกัน ซึ่งหากลูกหลานเห็นว่าผู้สูงอายุยังต้องการทำงานสร้างรายได้ก็ควรสนับสนุน ไม่ควรห้ามปราม

ขณะที่ ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ร่วมเสนอแนวทางว่า นอกจากการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี ช่วยเหลือตนเองได้ ยังต้องมีการคุ้มครองทางสังคม มีหลักประกันทางรายได้ เนื่องจากแม้เกษียณแล้ว แต่ผู้สูงอายุยังมีรายจ่ายในการดำเนินชีวิต จึงเป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐว่า จะทำอย่างไรเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น

ผอ. สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ให้ข้อมูลด้วยว่า สสส. และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตร “เกษียณคลาส” ร่วมกับภาคีเครือข่าย Young Happy ภายใต้แนวคิด “บทเรียนวัยเกษียณ ที่จะเปลี่ยนชีวิตให้แฮปปี้” เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้วิธีการเข้าถึงเทคโนโลยีควบคู่กับการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อเรียนรู้สิ่งสำคัญก่อนก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้สำหรับวัยสูงอายุ ที่เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์ รวมถึงการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือการใช้ชีวิตประจำวัน ผ่านหลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชพัฒนาขึ้น มีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการมีสุขภาวะ มีความสุข และเป็นพลังของสังคมต่อไป ซึ่งหลักสูตรนี้ครอบคลุมสุขภาวะทั้งร่างกาย จิตใจ สภาวะแวดล้อม การประกอบอาชีพ เป็นต้น หากเรียนครบหลักสูตรแล้ว ผู้เรียนสามารถเก็บเป็นหน่วยกิตสำหรับการศึกษาในระบบของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชต่อไปได้ด้วย

การรับมือกับสึนามิสังคมผู้สูงวัย ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะข้ามพ้นคลื่นลูกใหญ่นี้ไปได้ ต้องจับตากันต่อไปว่าเมื่อปี 2565 มาถึง เมื่อประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่ประเทศผู้สูงวัยอย่างเป็นทางการ แง่คิด แนวทาง และข้อเสนอจากงานสนทนาครั้งนี้จะต่อยอดไปสู่การประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้าง


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน