ฟื้นคืนภูมิปัญญาพื้นถิ่นให้มีความร่วมสมัย เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน

เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการทอผ้าของไทย และเสด็จทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนใน 3 ภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เสด็จเยือนกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อทอดพระเนตรขั้นตอนการผลิตผ้าโดยใช้เส้นใยจากธรรมชาติ ที่เป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่น สนับสนุนการสร้างรายได้เสริมจากอาชีพหลักคือเกษตรกรรม พระองค์มีพระประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพผ้าของชุมชนบ้านดอนกอยให้ไปสู่การเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นำโดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย น้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในพระวิสัยทัศน์ดังกล่าว ประกอบกับข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า ในปี พ.ศ. 2563 บ่งชี้ว่าผู้ผลิต ผู้ประกอบการจำนวนกว่า 30,000 กลุ่ม/ราย ยังต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และยังต้องมีการขยายตลาดผู้ใช้ให้กว้างขวางขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ทั้งประเภทกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องแต่งกาย กลุ่มเคหะสิ่งทอ และงานหัตถกรรม กรมการพัฒนาชุมชนเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกลยุทธ์เพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบการทอผ้า มีกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นระบบให้สามารถตอบสนองตลาดผู้บริโภคเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มที่นิยมผลิตภัณฑ์ผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง นิยมเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบรนด์เนม ตัดเย็บด้วยความประณีต ทันสมัย จึงเห็นควรที่จะพัฒนายกระดับมาตรฐานสินค้าผ้าไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า ส่งเสริมภาพลักษณ์ และประชาสัมพันธ์แบรนด์ผ้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ด้วยเหตุนี้ กรมพัฒนาชุมชนจึงได้จัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายให้เป็น Premium OTOP ขึ้น และได้รวบรวมข้อมูลเนื้อหาและผลงานมาไว้ในหนังสือดอนกอยโมเดลฉบับสมบูรณ์ 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) และฉบับดิจิทัล หนังสือดอนกอยโมเดล บรรจุข้อมูลการพัฒนาหมู่บ้านทอผ้าย้อมครามและย้อมสีธรรมชาติในรูปเล่มที่ทันสมัย ตามแนวทางของโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยนำรูปแบบของการพัฒนาคุณภาพการย้อมผ้า ทอผ้า รวมทั้งการพัฒนา Branding และ Storytelling มาเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าในระยะยาว เพื่อให้ชุมชนมีรายได้และช่วยเหลือตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ของแนวพระดำริโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ที่ได้พระราชทานไว้ ภายในเล่มประกอบด้วยเนื้อหาที่ครบถ้วน ตั้งแต่อารยธรรมและความเป็นมาเกี่ยวกับการใช้สอยครามในทวีปต่างๆ ทั่วโลก และพันธุ์พืชที่ให้สีคราม ซึ่งทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลาย ความเป็นมาของการใช้ครามย้อมผ้าในจังหวัดสกลนครของไทย ผ่านการอพยพ ย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายที่เข้ามายังภาคอีสานในช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ ก่อนจะกล่าวถึงประวัติการตั้งและการขยายหมู่บ้านดอนกอย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร วิถีชีวิตของ 4 กลุ่มชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการดอนกอยโมเดล นอกจากนี้ยังบรรยายถึงสีย้อมธรรมชาติและวิธีการย้อมสีรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้จากการฟื้นฟูภูมิปัญญาพื้นถิ่นของชุมชนขึ้นใหม่ องค์ประกอบที่สำคัญของกรรมวิธีเหล่านั้น พร้อมแยกกลุ่มสีธรรมชาติให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีสีใดบ้าง ได้จากพืชชนิดใดและส่วนใดของพืช ก่อนจะเจาะลึกถึงต้นครามและสายพันธุ์ที่ใช้กันในประเทศ การปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยว การสกัดสีคราม และขั้นตอนการเก็บรักษาเนื้อครามที่สกัดได้ วิธีการเตรียมสีครามเพื่อใช้ย้อม โดยเน้นรายละเอียดไปถึงขั้นตอนการเตรียมน้ำด่าง น้ำต้มเปลือกไม้ และการดูแลสีครามที่ได้เพื่อไม่ให้เสื่อมคุณภาพ การแก้ไขเมื่อสีครามเสื่อมคุณภาพ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ใช้วัสดุธรรมชาติจากภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งสิ้น เช่น การแก้ไขสีครามที่เสื่อมคุณภาพด้วยกล้วยน้ำว้า น้ำตาลอ้อย และมะขามเปียก เป็นต้น พร้อมกรรมวิธีย้อมคราม

โดยเปรียบเทียบให้เห็นสีสันของผ้าครามที่พัฒนาให้หลากหลายได้ถึง 10 เฉดสี เป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่นักออกแบบและผู้ที่สนใจ

หนังสือดอนกอยโมเดลยังระบุชนิดและลักษณะของเส้นใยประเภทต่างๆ ที่ชาวบ้านดอนกอยใช้ผลิตผ้า อาทิ ฝ้าย เรยอน และเหตุผลที่ผสมเรยอน พร้อมภาพประกอบทั้งภาพเส้นใยและภาพแสดงการเตรียมเส้นใยฝ้ายแบบพื้นบ้าน

แนะนำอุปกรณ์ทอผ้าแต่ละชนิด การเตรียมเส้นใยก่อนลงมือทอผ้า ทั้งเส้นพุ่งที่เรียกว่า หมี่ อันเป็นที่มาของชื่อผ้ามัดหมี่ เส้นยืนที่เรียกว่า หูก ซึ่งเส้นใยทั้งสองนี้มีการเตรียมที่แตกต่างกัน จากนั้นจึงบรรยายขั้นตอนการทอ และแสดงภาพลายผ้ามัดหมี่ดั้งเดิมที่ 4 กลุ่มชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมโครงการดอนกอยโมเดลออกแบบสร้างสรรค์ลวดลายขึ้นใหม่ พร้อมบทบันทึกความเป็นมาของแต่ละลวดลาย ที่ร้อยเรียงจากวิถีชีวิตที่เรียบง่ายในชุมชนนอกจากลวดลายดั้งเดิมแล้ว ภายในเล่มยังรวบรวมลายผ้าที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมาใหม่จากลายผ้าดั้งเดิม เพื่อแสดงให้เห็นผลงานที่เกิดจากการลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความคิดเห็น ตลอดจนร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อพัฒนาคุณภาพของผ้าและโทนสีธรรมชาติที่เลือกใช้กับลายผ้ารุ่นใหม่ เพื่อทำให้ผ้ามีความร่วมสมัยมากขึ้น ด้วยเทคนิคการทอและการผสมผสานสีสันในผ้าผืนเดียวกัน ตามด้วยพระวินิจฉัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีต่อลวดลายผ้าโบราณของหมู่บ้านดอนกอย พร้อมภาพผืนผ้าที่ทอขึ้นตามพระวินิจฉัยดังกล่าว ก่อนจะแสดงภาพแฟชั่นคอลเลคชั่นของแบรนด์ “ดอนกอยสกล” ทั้งเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับที่ผลิตจากผ้าในโครงการดอนกอยโมเดล ออกแบบโดยนักออกแบบชั้นนำของประเทศ รวมทั้งแนวคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละคอลเลคชั่น และแนวคิดการทำแบรนดิ้งดอนกอยสกล ตราสัญลักษณ์ และบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ อีกทั้งหนังสือดอนกอยโมเดลยังนำระบบการตลาดออนไลน์เข้ามาประกอบการขายผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดของสินค้าในเล่ม ซึ่งทำให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงผู้ขายและผลิตภัณฑ์ได้โดยตรง

นอกจากวัตถุประสงค์โครงการดอนกอยโมเดลได้เผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ และด้านการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เป็นที่ประจักษ์กันทั่วไปแล้ว

ผลประโยชน์ที่ชุมชนได้รับจากโครงการดอนกอยโมเดลยังมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น 10 เท่า นับตั้งแต่มีการพัฒนาชุมชนต้นแบบ จากรายได้เดือนละ 700 บาท สามารถเพิ่มเป็น 7,000 บาท ต่อครัวเรือน สามารถพึ่งพาตนเองได้ในยามที่

เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน