คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวอุทยานศิลปะ หรือ “สวนศิลป์จุฬาฯ” (CHULA ART PARK) แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปกรรมระดับนานาชาติแห่งใหม่ใจกลางเมือง ที่สะท้อนอัตลักษณ์และชีวิตชุมชนสามย่าน-สวนหลวง ผ่าน 15 ชุดผลงานศิลปกรรมประติมากรรม พร้อมให้ชมได้อย่างเต็มอิ่มตลอดเช้าจรดค่ำ (Day and Night Digital Arts Park)

ศาสตราจารย์ ดร.บุษกร บิณฑสันต์ ประธานสภาคณบดีและการออกแบบแห่งประเทศไทย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โครงการอุทยานศิลปะ หรือ “สวนศิลป์จุฬาฯ” (CHULA ART PARK) จัดทำขึ้นภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การใช้ผลงานศิลปะและการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชุมชนสามย่าน-สวนหลวงอย่างยั่งยืน” โดยความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

“อุทยานศิลปะนี้จะเป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) และเส้นทางท่องเที่ยวระดับนานาชาติแห่งใหม่ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ด้วยมนต์เสน่ห์ของชุมชนสามย่าน-สวนหลวง ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ใจกลางเมืองและเป็นย่านการค้า อาหารอร่อยและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยเชื้อสายจีน โดยชุดผลงานศิลปกรรมประติมากรรมจำนวน 15 ชิ้นนี้ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย สมาชิกสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย สามารถเข้าชมได้ทั้งกลางวันและกลางคืน (Day and Night Digital Arts Park ) ซึ่งจะมีบรรยากาศที่แตกต่างกันไปด้วยพลังงานสะอาดไม่ก่อมลพิษเพราะเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์”

โดย ผลงานประติมากรรมในโครงการประกอบไปด้วย

  1. ไมตรี-ผูกพัน (Friendship and Connection) โดย อาจารย์ตระการ พนมวัน ณ อยุธยา
  2. ชาวไทยเชื้อสายจีน: วิถีและศรัทธา (Thai people of Chinese Descent: Way of Life and Faith) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริชัย พุ่มมาก
  3. วัฒนธรรมความดีงามของชุมชนสามย่าน (The Samyan Community’s Culture of Goodness) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไกรสร ประเสริฐ
  4. ปอดกลางเมือง (City’s Lungs) โดย อาจารย์อุกฤษ วรรณประภา
  5. ภาพสะท้อนของกระรอกน้อย (Reflection of a Little Squirrel) โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ทักษิณา พิพิธกุล
  6. สถานีสามย่าน-สวนหลวง (Station) โดย ศาสตราจารย์กมล เผ่าสวัสดิ์
  7. สะพานอ่อน (Saphan On) โดย อาจารย์ ดร. พิชัย ตุรงคินานนท์
  8. ดอกไม้กลางเมือง (City Center’s Flower) โดย อาจารย์กฤช งามสม
  9. สร้างการรับรู้วิถีชุมชนสามย่าน (Create the Acknowledgement of Samyan Communal Ways) โดย อาจารย์อนุพงศ์ สุทธะลักษณ์ และ อาจารย์เอกชัย สมบูรณ์
  10. ประตูสวรรค์สามย่าน (Samyan Heaven Gate) โดย อาจารย์อคราส พรขจรกิจกุล
  11. กลิ่นอายหมอกมังกรจีน (Aura of the Chinese Dragon) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ถนอมจิตร์ชุ่มวงค์
  12. สังสรรค์ (Party) โดย อาจารย์ศุภเดช หิมะมาน
  13. ประติมากรรมประแจจีน (Chinese Fret) โดย อาจารย์ธัญญารัตน์ ทองใจ
  14. Hide and Seek โดย อาจารย์ภัทร นิมมล
  15. เรือ(น) (Junk) โดย อาจารย์ ดร.สมพงษ์ ลีระศิริ

ผู้ที่สนใจ สามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลอุทยานศิลปะ หรือ “สวนศิลป์จุฬาฯ” (CHULA ART PARK) เพิ่มเติมได้ที่ www.chulaartpark.art


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน