สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) และวิทยาลัยเพาะช่าง จัดกิจกรรม “เทศกาลศิลปะเปิดเกาะรัตนโกสินทร์ Cultural District 2022 : Arts in the Hotel” เนรมิตพื้นที่ภายในโรงแรมและห้องพักย่านเกาะรัตนโกสินทร์กว่า 15 แห่ง ผนวกกับภายในมิวเซียมสยามอีก 1 แห่ง ให้เป็นสตูดิโอโชว์งานศิลปะอันสร้างสรรค์ขนาดย่อมของเหล่าศิลปินมากฝีมือ เพื่อเล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ ผ่านการตีความใหม่สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ พร้อมเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเสพงานศิลป์อย่างใกล้ชิด ผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ เวิร์กช็อป งานเสวนา บรรยายประวัติศาสตร์ การแสดงดนตรี ตลอดจนทริปเส้นทางเดินชมบรรยากาศและความงดงามของย่านเมืองเก่ารอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 15 กรกฎาคม 2565 นี้

นางสาวซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เล่าถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมเทศกาลศิลปะเปิดเกาะรัตนโกสินทร์ฯ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ว่า “มิวเซียมสยามมีภารกิจสำคัญคือเชิญชวนให้คนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตคนไทย ซึ่งเราเปิดให้บริการมาเกือบ 10 ปีแล้ว จึงมีความคิดที่จะสร้างสรรค์การเรียนรู้ใหม่ๆ นอกกรอบพิพิธภัณฑ์บ้าง อีกทั้งสถานที่ตั้งของเราอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ มีสถานที่น่าสนใจและเป็นที่รู้จักมากมาย เราจึงมีความคิดนำทั้ง 2 ส่วนมารวมกัน เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านสถานที่จริงและกิจกรรมต่างๆ ที่จะบอกเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ พร้อมกับเปิดพื้นที่แหล่งเรียนรู้รอบๆ พิพิธภัณฑ์ของเราไปด้วยพร้อมๆ กัน

โดยภาพรวมของแนวคิดในการจัดกิจกรรมปีนี้ จะให้ความสำคัญเรื่องสถานที่จัดงานเป็นหลัก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ผนวกกับเกาะรัตนโกสินทร์ถือเป็น First Destination ในการมาเที่ยวเมืองไทยของชาวต่างชาติ ดังนั้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทย ภาคการท่องเที่ยวจึงได้รับผลกระทบและส่งผลให้ไม่มีคนมาเที่ยวหรือพักผ่อนในโรงแรมที่มีอยู่กว่า 60 แห่งรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ทางมิวเซียมสยามจึงหาวิธีการในการช่วยเหลือ สนับสนุน หรือสร้างกิจกรรมร่วมกับโรงแรมเหล่านี้ ซึ่งพอเราลงพื้นที่ไปสำรวจพบว่าแต่ละแห่งมีความเป็น Unseen ของอาคารเก่าที่มีสถาปัตยกรรม หรือการตกแต่งที่สวยงาม เช่น บางแห่งมีคอร์ดยาร์ดที่สวยมากซ่อนอยู่ในตัวตึก บางแห่งอยู่ในตรอกเล็กๆ แต่มีห้องพักรองรับมากถึง 80 ห้อง และโดยปกติทาร์เก็ตคนเข้าพักจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 100% ดังนั้นจึงมีคนไทยเพียงส่วนน้อยที่จะได้เห็นสิ่งสวยงามเหล่านี้ ครั้งนี้จึงเป็นจังหวะดีที่เราจะได้ทดลองทำงานร่วมกับโรงแรม 15 แห่ง เพื่อเปิดกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นคนไทยในช่วงโควิด-19 ผ่านการเดินชมความสวยงามต่างๆ ในแต่ละโรงแรม พร้อมสร้างคอนเนคชันให้เกิดเป็นย่านเกาะรัตนโกสินทร์ขึ้นมา”

ด้าน รองศาสตราจารย์นิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส หัวหน้าภาควิชาศิลปะประจำชาติ วิทยาลัยเพาะช่าง พันธมิตรของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า “วิทยาลัยเพาะช่าง ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนการจัดกิจกรรมครั้งนี้อย่างเต็มที่ เพราะหน้าที่หลักของวิทยาลัยเพาะช่างตลอดระยะเวลา 109 ปีที่ผ่านมา คือการอนุรักษ์ สงวน และรักษาองค์ความรู้ของช่างไทยในอดีต ซึ่งถือว่ามีอายุพอๆ กับอาคารหลักของมิวเซียมสยามที่มีอายุครบ 100 ปี อีกทั้งยังสอดคล้องกับโจทย์สำคัญของเราในการปรับภาพลักษณ์ของวิทยาลัยให้เท่าทันโลกและยุคสมัย รวมถึงช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี ผ่านการดึงเอาสิ่งที่คนรุ่นใหม่มองว่ามันเชยให้กลับมาเข้ายุคเข้าสมัยไปในตัว

นอกจากนี้ทางวิทยาลัยเพาะช่างยังได้นำเสนอแนวคิดการจัดแสดงผลงานร่วมกับมิวเซียมสยามในธีมของอนาคต ที่ไม่ใช่เรื่องของความล้ำสมัยหรือการคาดการณ์ล่วงหน้า แต่เป็นสิ่งที่วิทยาลัยฯ ผลิตอยู่ในทุกวันนี้ คือพวกศิลปะวัตถุต่างๆ ที่ถือเป็นมรดกของชาติ และทางมิวเซียมสยามได้นำมาจัดแสดงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งผมเชื่อว่าในอีก 100 ปีข้างหน้าสิ่งที่พวกเราทำไว้ในวันนี้ ทางคนของมิวเซียมสยามในอนาคตก็คงจะมาตามเก็บศิลปะวัตถุเหล่านี้เพื่อนำไปจัดแสดงอย่างแน่นอน”

โดยวิทยาลัยเพาะช่างได้ร่วมออกแบบและตีความเรื่องประวัติศาสตร์ของพื้นที่ให้กับโรงแรม จำนวน 3 แห่ง พร้อมดึงจุดเด่นหรืออัตลักษณ์ของแต่ละสาขาวิชาเข้ามาแมตช์กับชิ้นผลงาน ผ่านการใช้ภาพรวมหลักที่ต้องการจะสื่อคือเล่าเรื่องของวิทยาลัยเพาะช่าง ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรักษาและสร้างมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติมานานกว่า 100 ปี และจะทำสืบเนื่องต่อไปในอนาคตข้างหน้า ดังนี้

  1. โรงแรม Villa Phra Sumen ที่บ่งบอกถึงเขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนกลางของจักรวาลตามคตินิยมความเชื่อในเรื่องไตรภูมิ โดยอาศัยลักษณะของตัวอาคารที่เมื่อเดินเข้าไปจะเป็นเวิ้งกว้างๆ ซึ่งเป็นที่รวมของคนหลายเชื้อชาติในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้นึกถึงเขาพระสุเมรุที่มีป่าหิมพานต์ มีต้นมักกะลีผลที่ออกผลเป็นสาวงาม ซึ่งรอบบริเวณนั้นจะเป็นที่รวมของเหล่าวิทยาทร จึงอุปมาเฉกเช่นผู้คนต่างเชื้อชาติที่มาพบปะกัน ดังนั้นผลงานจึงออกแบบเป็นรูปปั้นของมักกะลีผลห้อยลงมา แล้วเซ็ตบริเวณโดยรอบเป็นป่าหิมพานต์ที่มีอมนุษย์ เทวดา ยักษา และสัตว์หิมพานต์ เป็นต้น
  2. โรงแรม Old Capital Bike Inn ได้แรงบันดาลใจมาจากวัดและวัง ซึ่งเป็นศิลปกรรมขึ้นชื่อในย่านเกาะรัตนโกสินทร์ จึงออกแบบเป็นผลงานประติมากรรมชิ้นเล็กๆ ที่เป็นคอมเทมโพลารีกึ่งไทย เพื่อเล่าเรื่องราวให้เข้าใกล้ความเป็นปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
  3. โรงแรม CHERN Hotel ซึ่งบริเวณรอบๆ เป็นซอยที่มีร้านขายสังฆภัณฑ์อยู่มากมาย จึงเกิดไอเดียในการนำงานจิตรกรรม ประติมากรรม มาห่อด้วยฟรอยด์สีเหลืองใสเหมือนเครื่องสังฆภัณฑ์ พร้อมนำงานศิลปะชั้นสูงมาตกแต่งด้วยฟรอยด์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ประกอบกับด้านหน้าโรงแรมเป็นร้านขายพระพุทธรูปซึ่งเป็นร้านใหญ่มาก เราจึงนำสีและความโปร่งของฟรอยด์สังฆภัณฑ์มาทำให้ดูน่าสนใจและดูเป็นศิลปะในปัจจุบันเพิ่มขึ้น

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมเทศกาลศิลปะเปิดเกาะรัตนโกสินทร์ Cultural District 2022 : Arts in the Hotel ได้ตั้งแต่วันที่ 9-15 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00–20.00 น.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/museumsiamfan และ www.museumsiam.org หรือ โทร.02-225-2777


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน