จากสถานการณ์วิกฤตราคายางพาราที่ปรับตัวลดลง ส่งกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเป็นอย่างมาก สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา จึงแก้ปัญหาของสมาชิกด้วยการส่งเสริมการผลิตยางพาราที่ได้มาตรฐาน รวบรวม รับซื้อน้ำยางสด และยางแผ่นรมควันจากสมาชิก รวมไปถึงแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราและสร้างตลาดเพื่อยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น โดยเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย สร้างเครือข่ายรับซื้อน้ำยางสดและยางแผ่นจากสมาชิกเพื่อป้อนโรงงานในราคานำตลาด ทำให้สมาชิกขายน้ำยางได้ในราคาที่พึงพอใจ มีรายได้เพิ่มขึ้น

นายมนุชาธิป วรกาญจนานนท์ สหกรณ์จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้ยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ายางพารา ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปจากการวิจัย โดยได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มความต้องการใช้ยางพาราในประเทศ เกิดเป็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสงขลา ได้รับมอบหมายจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้เข้าไปสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเพื่อการพัฒนายางพาราแบบครบวงจร จึงได้ประสานงานกับสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อร่วมกันจัดเวทีเครือข่ายแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ ซึ่งได้รับความสนใจจากสหกรณ์ในพื้นที่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด ที่ให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนาแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ จึงได้สนับสนุนการจัดหาเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านงบประมาณกลุ่มจังหวัด เพื่อดำเนินการแปรรูรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา

“การดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราภายใต้โครงการ Rubber City ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราได้มาก แต่หัวใจสำคัญที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องดำเนินการ คือการขับเคลื่อนด้านการตลาดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เช่น ผลิตภัณฑ์รองเท้าแตะ กลุ่มเป้าหมายคือนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ผลิตภัณฑ์รองเท้าบูท เจาะกลุ่มเกษตรกรในประเทศ เป็นต้น รวมถึงประสานหน่วยงานรัฐในการจัดทำโครงการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ เช่น การทำเสาหลักนำทาง หรือการทำแผ่นยางครอบกำแพงคอนกรีต ช่วยให้ราคายางพาราขยับขึ้นได้จริง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น” สหกรณ์จังหวัดสงขลา กล่าว

ด้าน นายกิตติธัช ณ วาโย ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด เปิดเผยว่า สมาชิกสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด ส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำสวนยางพารา ซึ่งมีมากกว่า 3,000 ครัวเรือน สหกรณ์ฯ ดำเนินธุรกิจรวบรวมยางพารา แปรรูปยางพารา โดยรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิก แล้วนำไปแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน แต่เนื่องจากมูลค่าของยางแผ่นรมควันราคาไม่สูงมากนัก ทางคณะกรรมการสหกรณ์ฯ จึงได้ร่วมกันคิดหาแนวทางที่จะเพิ่มมูลค่าด้วยการผลิตยางลูกขุน (ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS 3) ที่ถูกอัดเป็นก้อน) กระทั่งในปี 2560 รัฐบาลได้มีโครงการ Rubber City ขึ้น สหกรณ์ฯ จึงได้เช่าโรงงานที่ตั้งอยู่ภายใน Rubber City เพื่อแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณผ่านทางกลุ่มจังหวัด และในปี 2561 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดสรรงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน ให้สหกรณ์ฯ นำไปจัดซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ โดยสหกรณ์ฯ ได้สบทบเงินเพิ่มอีก 10% ซึ่งแรกเริ่มสหกรณ์ฯ ได้ทำการแปรรูปยางพาราเป็นรองเท้าแตะ รองเท้าบูท และแผ่นยางปูพื้น จากนั้นได้รับการสนับสนุนความรู้จากสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาสงขลานครินทร์ เข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปยางพารา ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต การแปรรูป การทำแผนธุรกิจ การบริหารจัดการ การผสมยางพารา และการทำการตลาด

การดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ในช่วงแรกเมื่อปี 2563 ตามที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ เช่น นำแผ่นยางมาครอบกำแพงคอนกรีต การใช้น้ำยางพารามาผลิตเสาหลักนำทาง ทำให้สหกรณ์ฯ สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ตามสัญญาที่ทำกับกรมทางหลวง ส่งผลให้โรงงานแปรรูปยางพาราของสหกรณ์ฯ มีกำไรเฉลี่ยปีละ 25 ล้านบาท มีการใช้ยางพาราแปรรูปไปแล้วประมาณ 1,200 ตัน ซึ่งเป็นจำนวนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมยางพาราได้มาก เพราะหากยางพาราจำนวนนี้ไม่ได้ถูกนำมาแปรรูป ก็จะถูกส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศตามราคาที่ตลาดกำหนด แต่เมื่อนำมาแปรรูปใช้ในประเทศ ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าเฉลี่ยได้ถึงกิโลกรัมละ 127 บาท

“ปัจจุบันสหกรณ์ฯ รวบรวมน้ำยางสดเฉลี่ยวันละ 1,500 กิโลกรัม ทั้งจากสมาชิกและเครือข่ายสหกรณ์ที่เชื่อมโยงกัน ในราคาตลาด แต่หากเป็นช่วงที่ดำเนินการแปรรูปแผ่นยางครอบกำแพงคอนกรีต และผลิตเสาหลักนำทาง จะรับซื้อน้ำยางจากสมาชิกสูงกว่าราคาตลาดกิโลกรัมละ 3 บาท กำลังการผลิตของโรงงานสามารถผลิตรองเท้าแตะได้ประมาณ 3,000 คู่ต่อเดือน และรองเท้าบูท 2,500 คู่ต่อเดือน จำหน่ายผ่านเครือข่ายสหกรณ์ การเชื่อมโยงกับเครือข่ายการยางแห่งประเทศไทย และระบบออนไลน์ ทำให้สหกรณ์ฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจเดิมที่มีกำไรเฉลี่ยปีละ 12 ล้านบาท เพิ่มมาอีก 25 ล้านบาท ส่งผลให้สมาชิกได้รับเงินปันผลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางนโยบายของสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด ที่ต้องการช่วยแก้ปัญหาให้กับสมาชิกตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ถือเป็นการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างยั่งยืน โดยยึดกลไกสหกรณ์” นายกิตติธัช กล่าว

นายสวาสดิ์ สังข์ทอง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯ มา 25 ปี ปัจจุบันมีสวนยางพาราประมาณ 20 ไร่ จำหน่ายน้ำยางให้สหกรณ์ฯ 100% เพราะจะได้ราคาสูงกว่าแหล่งรับซื้อทั่วไปกิโลกรัมละ 1-2 บาท ประกอบกับปัจจุบัน สหกรณ์ฯ ได้เข้าไปลงทุนโรงงานแปรรูปยางพาราในนิคมอุตสาหกรรม Rubber City ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ และเป็นการรักษาเสถียรภาพราคา ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนของตน จากเคยมีรายได้เฉลี่ย 13,000-15,000 ต่อเดือน (ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคายางพาราในขณะนั้น) ก็เพิ่มขึ้นอีก 1,000-2,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่สหกรณ์ก็มีผลกำไรและสามารถปันผลเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกมากขึ้น

“ระบบสหกรณ์เป็นเรื่องที่ดี มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สหกรณ์เป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกได้ทั้งด้านสินเชื่อ การส่งเสริมการออมเงิน การส่งเสริมอาชีพ การดูแลเรื่องแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าและหาตลาดมารับซื้อให้กับสมาชิก ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาด้านราคายางพารา ทำให้สมาชิกมีรายได้ที่มั่นคง และเมื่อถึงสิ้นปี สหกรณ์ยังได้จัดสรรกำไรส่วนหนึ่งมาเป็นเงินปันผลคืนให้กับสมาชิกอีกด้วย ถือว่าการเป็นสมาชิกสหกรณ์ ช่วยสร้างรายได้และความมั่นคงให้เกษตรกรได้อย่างดี” นายสวาสดิ์ กล่าว


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน