วันนี้ (19 ส.ค. 2565) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว. ทส.) เป็นประธานในพิธีปิด การศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 (ปธส. 9) และกิจกรรม IS Conference Day พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีนายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน ภายในงานมีกิจกรรมที่สำคัญ ประกอบด้วย การนำเสนอ ปธส. 9 โมเดล “Sustainable Absolute Decoupling” โดย ดร. พิเศษ เสนาวงษ์ ดร.อัญชลี ชุมนุม และคุณเข็มอัปสร สิริสุขะ นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 และการเสวนา หัวข้อ การขับเคลื่อน “Absolute Decoupling” สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ศ.ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายเกียรติชาย ไมตรีวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า
ขอแสดงความยินดีกับผู้ผ่านการศึกษาอบรมทั้ง 62 ท่าน ประกอบด้วย ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน และเอกชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง จะนำผลแห่งความสำเร็จไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศแบบองค์รวม ด้วยการนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย สร้างธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร และขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เราในฐานะเป็นประชากรของโลก ต้องมีความรับผิดชอบในการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

“อีกทั้งประเทศไทย ได้ประกาศเป้าหมายร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP 26) ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 เป็นเรื่องที่ท้าท้ายอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศต้องพัฒนาทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แนวคิดของการผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือกำไรของธุรกิจ ในขณะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือแนวคิด Decoupling ที่ถูกนำมาใช้เป็นประเด็นหลักในการศึกษาวิจัยในหลักสูตร ปธส. 9 ด้วยแนวทางการลดการใช้ทรัพยากร การลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตด้วยการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิตหรือนวัตกรรมที่ลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิต ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเป็นเป้าหมายระยะยาวของทุกประเทศเพื่อที่ประชากรรุ่นหลังจะได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีความมั่นคงทางอาชีพจากเศรษฐกิจที่เติบโตมากขึ้น” นายวราวุธ กล่าว

ด้าน นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพนักบริหารระดับสูงด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 หรือ ปธส. 9 ขึ้น ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 19 สิงหาคม 2565 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพนักบริหารระดับสูงในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวมและบูรณาการตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการศึกษาอบรม แบ่งออกเป็น 5 หมวดวิชา รวม 182 ชั่วโมง เป็นการศึกษาอบรมแนวบูรณาการ ใช้วิธีการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การบรรยาย การอภิปราย การเสวนา การใช้กรณีศึกษา การระดมความคิดเห็น และการสัมมนาวิชาการ นอกจากนี้ ยังดำเนินการศึกษาวิจัยที่มุ่งเน้นแนวทางเพื่อความยั่งยืน ในรูปแบบของสารนิพนธ์กลุ่ม จำนวน 7 กลุ่ม

“จากการประเมินผลการศึกษาอบรม ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจ ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม ต่างลงความเห็นว่า เนื้อหาหลักสูตรมีความเข้มข้นครอบคลุมทุกมิติด้านสิ่งแวดล้อม ตรงประเด็นและทันสมัย สามารถนำไปปรับใช้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี วิทยากรล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์สูง สามารถช่วยเปิดโลกทัศน์และมุมมองใหม่ ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมแก่ผู้เข้ารับการศึกษาอบรม รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ มีเครือข่ายความร่วมมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการศึกษาอบรมไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้เป็นอย่างดี” อธิบดีส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าว


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน