บ้านควรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนในครอบครัว แต่กลับพบว่าอุบัติเหตุจำนวนมากเกิดขึ้นภายในบ้าน โดยเฉพาะกับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ การรู้จักจุดเสี่ยงและวิธีป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความอุ่นใจให้กับทุกคนในครอบครัว มาดูกันว่ามีอุบัติเหตุใดบ้างที่พบบ่อยและมีวิธีป้องกันอย่างไร

6 อุบัติเหตุในบ้านที่พบบ่อย

อุบัติเหตุในบ้านสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากขาดความระมัดระวัง แต่หลายครั้งก็สามารถป้องกันได้ด้วยการจัดการพื้นที่และเสริมอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อป้องกัน หรือเตือนให้ระวังเมื่อถึงจุดหรือบริเวณที่ควรต้องระมัดระวัง รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้กับสมาชิกในครอบครัวด้วย

1. ลื่นตกบันได

การลื่นตกบันไดเป็นอุบัติเหตุที่พบบ่อยและอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรง โดยเฉพาะในบ้านที่มีเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ สาเหตุหลักมักเกิดจากพื้นผิวที่ลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ การขาดความระมัดระวัง หรือการขาดอุปกรณ์ช่วยพยุงตัว เช่น ราวบันได

วิธีป้องกัน

  • ติดจมูกบันไดอลูมิเนียมกันลื่นที่ขั้นบันได
  • ติดตั้งราวบันไดให้แข็งแรงและใช้งานได้สะดวก
  • เพิ่มแสงสว่างบริเวณบันไดให้เพียงพอ
  • ดูแลไม่ให้มีสิ่งกีดขวางบนบันได
  • หลีกเลี่ยงการวิ่งขึ้นลงบันได

2. ไฟไหม้

อัคคีภัยในบ้านมักเกิดจากความประมาทในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า การประกอบอาหาร หรือการจุดธูปเทียน ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วอาจสร้างความเสียหายรุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน การเตรียมพร้อมรับมือและมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่พร้อมใช้งานจึงเป็นสิ่งจำเป็น

วิธีป้องกัน

  • ติดตั้งเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ
  • จัดเตรียมถังดับเพลิงประจำบ้าน
  • ตรวจสอบสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าสม่ำเสมอ
  • ไม่เสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้โดยไม่จำเป็น
  • ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน และทิ้งก้นบุหรี่อย่างระมัดระวัง

3. อุบัติเหตุภายในห้องน้ำ

ห้องน้ำเป็นพื้นที่ที่เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะพื้นเปียกและลื่นได้ง่าย ผู้สูงอายุอาจล้มในขณะที่เข้าห้องน้ำ และเด็กเล็กอาจลื่นหกล้มหรือจมน้ำในอ่างอาบน้ำได้ การจัดการให้ห้องน้ำมีความปลอดภัยจึงสำคัญมากสำหรับทุกคนในครอบครัว

วิธีป้องกัน

  • ติดตั้งราวจับในห้องน้ำ
  • ใช้พรมหรือแผ่นกันลื่น
  • ติดตั้งไฟให้แสงสว่างเพียงพอ
  • ไม่ปล่อยให้พื้นเปียกแฉะ

4. ไฟดูด หรือไฟช็อต

อุบัติเหตุจากไฟฟ้าดูด หรือไฟช็อต มักเกิดจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชำรุด เครื่องไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการสัมผัสกับน้ำขณะใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

วิธีป้องกัน

  • ตรวจสอบสภาพสายไฟอย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องน้ำ
  • ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน
  • ทำความสะอาดบริเวณปลั๊กไฟให้แห้งอยู่เสมอ และไม่เสียบปลั๊กไฟในขณะที่มือเปียก

5. ของมีคมบาด

อุบัติเหตุจากของมีคม เช่น มีด กรรไกร เครื่องปั่น หรือแม้แต่ขอบเฟอร์นิเจอร์ที่แหลมคม มักเกิดจากความรีบเร่ง ขาดความระมัดระวัง หรือการจัดเก็บอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งการบาดเจ็บอาจรุนแรงได้หากโดนเส้นเลือดสำคัญ

วิธีป้องกัน

  • จัดเก็บของมีคมให้เป็นระเบียบ
  • ใช้อุปกรณ์ด้วยความระมัดระวัง
  • สอนเด็กให้ระวังของมีคม และสอนเกี่ยวกับอันตรายของของมีคม
  • แยกเก็บของมีคมให้พ้นมือเด็ก

6. น้ำร้อนลวก

น้ำร้อนลวก เป็นอีกหนึ่งอุบัติเหตุที่ใกล้ตัวเรามากในชีวิตประจำวัน ซึ่งความร้อนอาจทำลายชั้นผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อจนกลายเป็นรอยแผลเป็น ทำให้สูญเสียความมั่นใจได้ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่อาจเผลอคว่ำถ้วยน้ำร้อน หรือดึงภาชนะที่มีน้ำร้อนหกใส่ตัวได้ง่าย ๆ

วิธีป้องกัน

  • ใช้ถุงมือกันความร้อน
  • ใช้ถ้วยที่มีฝาปิดสำหรับเครื่องดื่มร้อน
  • จัดวางภาชนะร้อนให้พ้นมือเด็ก
  • ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ในครัวตามลำพังขณะทำอาหาร
  • ไม่อุ้มเด็กขณะถือของร้อน

สรุปบทความ

การป้องกันอุบัติเหตุในบ้านเป็นเรื่องที่ทุกคนในครอบครัวต้องให้ความสำคัญ การสร้างความตระหนักรู้ จัดการพื้นที่เสี่ยง และติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันที่จำเป็น จะช่วยลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุและทำให้บ้านเป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน