องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ในปี 2552 ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีจำนวน 108 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 422 ล้านคน ในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 1.5 ล้านคน นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรทั่วโลกที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 เป็นร้อยละ 8.5 หรือเมื่อเปรียบเทียบแล้ว พบว่า ปัจจุบันประชากรวัยผู้ใหญ่ 1 ใน 11 คน ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ส่วนในประเทศไทย จากรายงานของ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า อัตราตายด้วยโรคเบาหวานต่อประชากรแสนคน ในภาพรวมของประเทศในปี 2556 – 2558 เท่ากับ 14.93, 17.53 และ 17.83 ตามลำดับ เห็นได้ว่า อัตราการตายด้วยโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นทุกปี และมีการสำรวจสุขภาพคนไทย โดยการตรวจร่างกายในประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไป เมื่อปี 2557 พบว่าโรคเบาหวานรายใหม่ เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.8 (คิดเป็น 4.8 ล้านคน)

ผู้ป่วยเบาหวาน… เราให้ความสำคัญในเรื่องอาหารการกินในแต่ละมื้อ แต่ละวันแล้ว สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือไม่ให้เกิดแผลเล็กๆ น้อยๆ จากการใช้ชีวิตประจำวัน ที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อและทำให้เกิดการลุกลามจนเป็นแผลใหญ่ที่ยากต่อการรักษา หากเกิดแผลในผู้ป่วยเบาหวานแล้ว การดูแลแผลของผู้ป่วยจะต้องเน้นในเรื่องของความสะอาด มากกว่าคนปกติทั่วไป ดังนั้น… เรามีวิธีดูแลผู้ป่วยเบาหวานแบบง่ายๆ มาฝากกัน…

โรคเบาหวาน… เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นจากผิดปกติของเซลล์ร่างกายที่ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานได้ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติบุคคลทั่วไปจะมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารมาแล้ว 6 ชั่วโมง ไม่เกิน 126 มก./ดล. ซึ่งหากสูงกว่านี้คุณมีโอกาสที่จะเป็นโรคเบาหวานได้

ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน คือ…

1.การมีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักที่มากกว่าปกติ

2.กรรมพันธุ์

3.อายุ ถ้าอายุมากขึ้นทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้

4.ความดันโลหิตสูง

5.การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ จำพวกน้ำตาล แป้ง และไขมันมากเกินไป

6.ขาดการออกกำลังกาย

สังเกตอาการเบื้องต้นของโรคเบาหวาน คือ

  • ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวัน และกลางคืน
  • กระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • น้ำหนักลดลง รู้สึกอ่อนเพลียง่าย
  • มีอาการชาที่ปลายมือและปลายเท้า

และถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อทำการรักษา โรคเบาหวานนอกจากจะเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ยากแล้ว อาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรดูแลตนเองให้ดี และป้องกันการเกิดบาดแผลในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพราะเมื่อเป็นแล้วแผลจะหายช้ากว่าปกติ ซึ่งแผลอาจเกิดอาการแทรกซ้อน และนำไปสู่การติดเชื้อและลุกลามจนทำให้เนื้อเยื้อตาย และต้องตัดทิ้งได้

ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเกิดเป็นแผล ควรจะทำความสะอาดแผลด้วยสบู่ โดยใช้น้ำอุ่น หรือน้ำเกลือ และทำความสะอาดรอบๆบาดแผลด้วยความเบามือ ไม่ควรล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์ เพราะมีฤทธิ์ในการทำลายโปรตีนในเนื้อเยื้อได้ จากนั้นเช็ดให้แห้ง ใส่ยาทำแผล และปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ปิดแผลโดยตรง และควรทำความสะอาดแผลอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งหากมีแผลมีอาการแดง หรือบวมขึ้นหลังจากทำแผล ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

การป้องกันการเกิดแผลของผู้ป่วยเบาหวาน

  1. ระมัดระวังไม่ให้เกิดแผลตามส่วนต่างๆ
  2. ควรใส่ถุงเท้าและรองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน เพื่อป้องกันการเดินเหยียบหรือเตะสิ่งของ ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลได้
  3. เมื่อเวลาจะใส่รองเท้า ควรเคาะรองเท้าก่อนใส่ เพื่อป้องกันเศษต่างๆในรองเท้า ที่ทำให้เกิดแผลโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาการมือเท้าชา ซึ่งทำให้ไม่รู้สึกเจ็บหากเหยียบ หรือเกิดแผล
  4. การตัดเล็บ ควรตัดเล็บในแนวเส้นตรง ไม่ควรตัวเล็บตามความโค้งของเล็บ เพื่อป้องกันการตัดเข้าโดนเนื้อซึ่งอาจทำให้เกิดแผลได้

ปัจจุบันโรงพยาบาลมีผู้ป่วย โรคเบาหวานประมาณ 2 หมื่นคน รักษาหายน้อยมากส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอ้วนที่มีระดับน้ำตาลไม่สูงมาก และกำลังรักษาประมาณ 1 หมื่น 4 พันคน ทั้งนี้ โรงพยาบาลมีพื้นที่อำนวยความสะดวกค่อนข้างจำกัด จึงทำให้เกิดความแออัดที่ห้องตรวจอย่างมาก และขณะนี้รพ.กำลังสร้างอาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลฯ เพื่อขยายพื้นที่ในการรองรับ และรักษาผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตเมื่ออาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลฯ เสร็จก็จะสามารถเปิดรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น และลดระยะเวลาของการรอรับการรักษาของผู้ป่วยได้

ดังนั้น ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมแบ่งปันน้ำใจสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ผ่านมูลนิธิรพ.ราชวิถี บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา รพ.ราชวิถี ประเภทบัญชี ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 0512163221 หรือ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 02–3547997-9 หรือ http://www.rajavithihospitalfoundation.org

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน