กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ องค์กรที่มุ่งสร้างนิเวศสื่อที่ดี ให้ประชาชนเข้าถึง เข้าใจ ฉลาดใช้สื่อ อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกระทรวงวัฒนธรรม จัดงานเสวนาวิชาการ“ไขรหัสลับ ละครบุพเพสันนิวาส” โดยได้รับเกียรติจากนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษ และมีนางอณุโรชา ภาณุพันธุ์ บิ๊กบอสค่ายบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่นร่วมงาน ซึ่งมีนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะวิทยากรทรงคุณวุฒิ ผู้รู้ลึก รู้จริง เรื่องสื่อโทรทัศน์ มาร่วมเสวนา ไขรหัสลับ ละครออเจ้า ในมุมที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน อาทิ อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นักเขียนบทละคร นายภวัต พนังคศิริ ผู้กำกับละครบุพเพสันนิวาส นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะทำงานสายกิจการองค์กร สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นายนิมิตร พิพิธกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรมและกรรมการกองทุนฯ รศ.นฤมล ปิ่นโต หัวหน้ากลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารฯ โดยมี ผศ. ดร. วิไลวรรณ จงวิไลเกษม รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ของคณะเป็นผู้ดำเนินรายการ งานนี้มีผู้สนใจร่วมเสวนาล้นห้อง และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากเจ้าบ้าน ผศ. ดร .อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดี คณะวารสารฯ งานนี้จัดขึ้นในบรรยากาศส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และมีเมนูดังในละครให้ชิมด้วย ณ คณะวารสารฯ มธ. ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม
เป็นประธานกล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษ

นายวสันต์ ภัยหลักลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพการจัดงานเสวนาวิชาการ“ไขรหัสลับ ละครบุพเพสันนิวาส” ในครั้งนี้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปบทเรียนละครบุพเพสันนิวาสที่ทำให้คนไทยทั่วประเทศรู้สึกฟินกัน รวมถึงคนไทยในต่างแดนและชาวต่างชาติที่ติดตามละครเรื่องนี้ เป็นปรากฏการณ์สำคัญ เพราะไม่เพียงแต่เรตติ้งถล่มทลาย แต่วันที่ละครฉายคนกลับบ้านเฝ้าหน้าจอ และที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น คือ คนไทยหันมาสนใจเรียนรู้รากวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มากขึ้น จำเป็นต้องไขรหัสความสำเร็จของละคร และต้องการเห็นละครเรื่องนี้เป็นจุดเปลี่ยนละครไทย จากเดิมที่คนเห็นว่าล้าหลัง ซ้ำซากจำเจ น้ำเน่า และไปชื่นชอบละครเกาหลีเพราะมีการศึกษาวิจัยทุ่มเทการสร้าง

นายนิมิตร พิพิธกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรมและกรรมการกองทุนฯ กล่าวถึงปรากฏการณ์ละครบุพเพสันนิวาส ว่า ละครบุพเพสันนิวาสได้ปฏิรูปละครไทย จากละครน้ำเน่าในอดีตที่เป็นภาพจำของคนในสังคม ในละครเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเห็นภาพที่คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำให้ผู้ชมเกิดการเรียนรู้ในรูปแบบ Media Literacy ในลักษณะอ่านสื่อให้รู้ ดูสื่อให้เป็น เกิดการติดตามละครอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อาหารการกิน การแต่งกาย ซึ่งผู้ชมจับต้องสิ่งที่ละครนำเสนอได้ จนเกิดกระแสทางวัฒนธรรมที่ผู้ชมพร้อมรับวัฒนธรรมทุกอย่างเนื่องจากใกล้เคียงกับวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งแตกต่างกับละครทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านๆ มาของไทยที่มักเป็นไปในลักษณะเชิดชู ศรัทธา และยกย่อง ทำให้ผู้ชมจับต้องไม่ได้

ในส่วนวงเสวนา ทีมงานผู้ผลิตละคร และนักวิชาการ ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ละครบุพเพสันนิวาส โดย อ.ศัลยา สุขะนิวัตติ์ กล่าวว่า “ละครเรื่องนี้มีเสน่ห์ในตัวของมัน นับเป็นผลงานที่สมบูรณ์ มีองค์ประกอบต่างๆ ที่สอดคล้องเข้ากัน ตัวละครเกศสุรางค์ที่ย้อนกลับไปในอดีตนั้นเเม้ว่าจะรู้ว่าประวัติศาสตร์จะดำเนินไปอย่างไร เเต่ไม่ได้จะเปลี่ยนเเปลง” ในส่วนการทำงานเขียนบทละครที่ผ่านมา ตนจับทางคนดูในสิ่งที่คนดูต้องการ การเขียนบทละครเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ข้อมูลต้องถูกต้องจริงๆ ที่สำคัญต้องทำให้คนดูมีความสุข เราต้องตอบแทนทำสิ่งดีๆ ให้คนดู” อ.ศัลยา กล่าว

นายภวัต พนังคศิริ ผู้กำกับละครบุพเพสันนิวาส กล่าวถึงเสน่ห์ของละครบุพเพสันนิวาสว่า เเรกเริ่มตนทำตัวเป็นคนอ่านหนังสือเล่มนี้ อ่านให้สนุก เพิ่มความสนุกเข้าไป เรื่องของภาษาต้องยอมรับว่ายาก เเต่นักเเสดงเขาเตรียมตัว ทำการบ้านมา ซึ่งทำได้ดี ตนมองว่าตัวละครมันมีสูตร มีการเเนะนำ สร้างปม ดึงเรื่องจนถึงจุดไคลแม็กซ์ เเละคลายปมในตอนท้าย ซึ่งมีการพัฒนาตัวละครทุกตัวให้ดูเเล้วเด่นหมด “ฉากที่พระเพทราชาเเละสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เถียงกันกลางท้องพระโรงนั้น ต้องมาดูจุดไคลเเม็กซ์ของฉากนั้นว่าอยู่ที่อารมณ์ ส่วนนางเอกการย้อนกลับไปในอดีตก็ต้องเอาชนะใจคนในยุคนั้น ทำให้เข้าถึงคนดู”นายภวัต กล่าวทิ้งท้าย

ทางด้าน ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะทำงานสายกิจการองค์กร สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวถึงเสน่ห์และสูตรสำเร็จของละคร “บุพเพสันนิวาส” ว่า “คอนเทนต์” มีความสำคัญที่สุด ถือเป็นเสน่ห์ของละครเรื่องดังกล่าวได้ ส่วนปรากฎการณ์ออเจ้าฟีเวอร์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ การรับชมละครโทรทัศน์ ต้องรับชมผ่านช่องทางโทรทัศน์เท่านั้น ส่วนแพลตฟอร์มทางสมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์ ฯลฯ สามารถรับชมได้และเป็นไปได้ในบางช่วง แต่อาจจะไม่ได้อรรถรสเท่ากับการรับชมผ่านช่องทางโทรทัศน์ ซึ่งส่วนตัวมั่นใจว่า สื่อโทรทัศน์มันยังคงอยู่ได้แน่นอน เพียงแต่สื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ส่งเสริมให้ผู้ชมมารับชมผ่านช่องทางสื่อโทรทัศน์มากกว่า ผู้ชมดูแล้วจับมือถือไปด้วย เพราะต้องบอกเพื่อนๆว่าดูอยู่ทำให้แฮชแท็กของละครเรื่องนี้ติดอันดับ 1 ในเอชีย

ทางด้านมุมมองของนักวิชาการ รศ.นฤมล ปิ่นโต หัวหน้ากลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ.กล่าวว่า “สำหรับการถอดรหัสแห่งความสำเร็จของละครบุพเพสันนิวาส พบว่า เสน่ห์และสูตรสำเร็จของละคร “บุพเพสันนิวาส” ได้แก่ ผู้ชม , เรื่องราว ภาษา , การแสดง ภาพ เสียง , ผู้กำกับ , ผู้ใช้สื่อ ซึ่งทางผู้จัดละครได้เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นด้วยการเปิดโหวตละครหรือนวนิยายที่อยากรับชมมากที่สุด สุดท้าย ก็เป็นละครเรื่อง

“บุพเพสันนิวาส” นอกจากนี้ บทประพันธ์ของละครเรื่อง มีการนำเสนอให้เข้ากับทุกกลุ่มผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่ม Gen X, Gen Y, Baby Boomer ทำให้ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมจากผู้ชมทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย

ทั้งนี้ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการเสวนาในครั้งนี้แล้ว ทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการถอดบทเรียน และต่อยอดสู่งานวิจัย โดยมีคณาจารย์ คณะวารสารศาสตร์ฯ เป็นผู้ร่วมกันดำเนินการ สร้างนวัตกรรมทางวิขาการ ด้านสื่อลัครสร้างสรรค์ปลอดภัยสู่สังคมต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน