แก้ปัญหาขยะกันอย่างไร

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

แก้ปัญหาขยะกันอย่างไรเกิดเป็นกระแสขึ้นมาอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว สำหรับกรณีการตายของ พะยูนน้อยมาเรียม ที่ผ่าพิสูจน์พบสาเหตุการตายส่วนหนึ่งเกิดจากชิ้นส่วนพลาสติกเข้าไปพันลำไส้

หรือพูดกันง่ายๆ ก็คือ เจ้าพะยูนน้อยมาเรียม สำคัญผิดคิดว่าเศษพลาสติกเป็นอาหาร หรือหญ้าทะเล จึงกินเข้าไป ก่อนที่จะตาย

ขณะเดียวกันก็ยังมีพะยูนในพื้นที่ต่างๆ ทยอยตายตั้งแต่ต้นปี 2562 รวมแล้วถึง 17 ตัว และหากนับในเขตทะเลตรัง ปีนี้ตายแล้วถึง 10 ตัว

ทำให้เกิดกระแสปลุกจิตสำนึกอนุรักษ์ ให้คนตระหนักพิษภัยของขยะพลาสติก โดยเฉพาะขยะในทะเล

แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ทันข้ามเดือน กระแสดังกล่าวก็เบาบางเสียจนน่าใจหาย จนน่าสงสัยว่าเหตุใดทำไมถึงเป็นเช่นนี้!??

แก้ปัญหาขยะกันอย่างไร

อย่างไรก็ตามเมื่อไล่เรียงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องยอมรับว่าปัญหาขยะพลาสติก รวมทั้งขยะในท้องทะเลถือเป็นเรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้น

ไม่ใช่ระดับประเทศ แต่เป็นเรื่องระดับโลกเลยทีเดียว

จึงจำเป็นต้องมองถึงภาพรวม ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไป แต่เป็นเรื่องนโยบายรัฐที่ต้องทบทวน

ไม่ว่าจะเป็นมาตรการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการรายยักษ์ ห้างสรรพสินค้า หรือผู้ประกอบการหลายๆ ส่วนที่เป็นตัวต้นในขบวนการสร้างขยะเหล่านี้

หรือกระทั่งการทบทวนเรื่องผังเมือง ที่คสช.มีคำสั่งยกเลิกไป จนทำให้เกิดการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นในบ้านเราขึ้นมาเป็นดอกเห็ด

ซึ่งไม่ทราบว่าการควบคุมดูแลมีมาตรการ และมาตรฐานอย่างไร มีการรั่วไหลออกมาจนกระทบกับสภาพแวดล้อมหรือไม่

สิ่งเหล่านี้คือเรื่องนโยบายที่ต้องทวงถาม

ควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกของประชาชนเพื่อลดการสร้างขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อม

หรือวางมาตรการรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพ

การเศร้าเสียใจฟูมฟายไปเมื่อมีพะยูนตายไปสักตัว มันไม่สามารถช่วยให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นในสังคมได้จริง

ต่อจากนี้ก็อยู่ที่ว่ากระทรวงไหนจะเป็นหัวขบวนหลักที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้สัมฤทธิผล

โชว์วิสัยทัศน์และฝีมือในการบริหาร

อย่าวนเวียนอยู่แต่ในสิ่งเดิมๆ ที่ไม่มีประโยชน์อีกเลย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน