บทเรียนสูญเปล่า มูลค่า2แสนล้าน

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

มันฯ มือเสือ

บทเรียนสูญเปล่ามูลค่า2แสนล้าน – กรณีน้ำท่วม จ.อุบลราชธานี ในทางการเมืองกลายเป็นจุดอ่อนรัฐบาล

ฝ่ายค้านหยิบยกมาโจมตีเกี่ยวกับ ประสิทธิภาพ ความสามารถในการบริหารประเทศ และความฉับไวต่อปัญหาทุกข์ร้อนสาหัสของประชาชน

รัฐบาลเปิดโต๊ะรับบริจาคเงินออกทีวี 2-3 ชั่วโมงได้กว่า 263 ล้าน นายกฯ ควักกระเป๋าสมทบ 1 แสนบาท

แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาพรัฐบาลดีขึ้นเพราะช้าเกินไป

เอาเข้าจริงๆ เรื่องเงินบริจาค “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ชิงกระแสนำโด่งไปก่อนแล้ว

จบเหตุการณ์นี้รัฐบาลก็ยังต้องตอบคำถามอีกเยอะ

โดยเฉพาะเรื่อง “งบกลาง”

ในจังหวะนายกฯ บ่นเบื่อประชาชนเจอหน้าคอยแต่จะขอเงิน ถึงอยากช่วยแต่ก็ไม่มีให้

แต่เวลาใกล้เคียงกันกลับพบว่า งบกลางซึ่งควรถูกใช้แก้วิกฤตน้ำท่วม ภัยพิบัติเร่งด่วน ถูกนำไปโปะให้กองทัพบก 2.8 พันล้านบาท เพื่อจัดซื้อยานเกราะสไตรเกอร์ เตรียมไว้สำหรับตั้งกรมยานเกราะในอนาคต

นั่นก็เรื่องหนึ่ง

กับอีกเรื่องหนึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาฯ พรรคประชาชาติ เปิดเผยตัวเลขงบประมาณบริหารจัดการน้ำ หลังจากตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นเมื่อปี 2558 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน ดังนี้

ปี 59 จำนวน 52,630 ล้าน ปี 60 จำนวน 54,200 ล้าน ปี 61 จำนวน 60,355 ล้าน และปี 62 จำนวน 62,831 ล้าน สรุปรวม 4 ปียุครัฐบาล คสช. ใช้งบบริหารจัดการน้ำกว่า 2.3 แสนล้าน

ไม่รวมการใช้ ม.44 ตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สร้างระบบศูนย์น้ำอัจฉริยะ ใช้งบลงทุนอีกกว่า 2,000 ล้าน

จุดประสงค์เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจัดทำฐานข้อมูลกลางให้สะดวกต่อการ ใช้งาน ติดตามวิเคราะห์พยากรณ์คาดการณ์สถานการณ์น้ำ เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำของผู้บริหารประเทศ

แต่ไม่รู้ยังไง 4 ปีผ่านไปกับงบกว่า 2.3 แสนล้าน

น้ำท่วม-ภัยแล้งยังคงเกิดซ้ำซากทุกปี

งบนับแสนล้านสุดท้ายได้มาเพียงคำแนะนำ

พื้นที่ใดน้ำท่วมมากให้ปรับเปลี่ยนอาชีพจากทำนาปลูกข้าวไปเลี้ยงปลาแทน

อ่านข่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน