แก้ปัญหา ไม่ใช่ซ้ำเติม

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

แก้ปัญหา ไม่ใช่ซ้ำเติม : เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด สำหรับการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 22 ต.ค. ที่จะถึงนี้

เนื่องจากมีวาระสำคัญเรื่องการยกเลิกใช้ 3 สารเคมี อันประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งก็ต้องลุ้นว่าจะมีผลออกมาเช่นใด

เพราะผลที่ออกมาย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยเฉพาะชาวสวนยางพารา สวนปาล์ม และมันสำปะหลัง ที่ใช้ยาประเภทนี้มากที่สุด

ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า 3 สารเคมี ที่เป็นเรื่องเป็นราวกันอยู่นี้ ทำหน้าที่อะไรกันบ้าง เริ่มจากพาราควอต และไกลโฟเซต เป็นตัวยากำจัดวัชพืช ส่วนคลอร์ไพริฟอส เป็นยาฆ่าแมลง ที่ใช้กันแพร่หลาย

ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 สาร ได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ต้องควบคุมปริมาณ และวิธีการใช้ที่ถูกต้อง

ไม่ให้เกิดสารตกค้าง เป็นอันตรายต่อเกษตรกรผู้ใช้ และมีผลตกค้างต่อผู้บริโภค

แต่มาถึงปัจจุบัน เมื่อมีความพยายามปลุกกระแสจะแบน 3 สารเคมี โดยระบุว่าเป็นสารอันตราย จนเกิดการรับลูกกันในระดับรัฐมนตรี และนักการเมืองทั้งหลาย

สร้างกระแสการข่มขู่คุกคาม มุ่งร้ายเอาชีวิตของนักวิชาการ

ก็พอจะเห็นแนวทางได้แล้วว่าผลของคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะออกมาเป็นแนวทางไหน อย่างไร

เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจกันในระดับนโยบายให้ชัดเจน ว่าหากมีการปรับเปลี่ยน ห้ามใช้สารเคมีทั้งสามแล้ว จะมีแนวทางอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร

เพราะต้องยอมรับว่าการใช้สารเคมีช่วยในการเกษตรนั้น ก็เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน ลดต้นทุนการผลิต และควบคุมผลผลิตให้ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ เมื่อไม่ได้ใช้ ปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมตามมาอย่างแน่นอน

จะให้เกษตรกรหันหลังให้กับสารเคมี ชักชวนเพื่อนฝูงมานั่งถอนหญ้า จับแมลง ก็คงจะเกิดขึ้นได้แต่ในโลกของความฝัน

ดังนั้นการพิจารณาใดๆ ในระดับนโยบาย ย่อมต้องมองถึงโลกของความเป็นจริง

อย่าหวังเพียงคะแนนนิยมหรือการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี โดยไม่มองถึงวิถีชีวิตเกษตรกรที่แท้จริง

อย่าลืมว่าหน้าที่ของพวกท่านคือการแก้ปัญหา ไม่ใช่ซ้ำเติมให้มันแย่ลงไปกว่าเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน