คำสั่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

คำสั่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ – คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธาน ประชุมพิจารณาศึกษากรณีการดำเนินคดีโดยรัฐ เพื่อกลั่นแกล้งผู้เห็นต่างทางการเมืองเมื่อวันก่อน

อันเนื่องผู้ได้รับผลกระทบจำนวนหลายราย ซึ่งเป็นนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน

ประกอบด้วย น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นายธนวัฒน์ วงศ์ไชย อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ เป็นต้น

ส่วนผู้แทนตัวแทนของฝ่ายรัฐที่มาชี้แจงนั้น ประกอบด้วย พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบก มือกฎหมาย คสช. ที่มีบทบาทในการแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลที่เห็นต่างการเมืองเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีเสธ.พีท-พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี ผบ.กรมทหารพรานที่ 22 คู่กรณีที่เคยแจ้งความดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองภาคอีสาน และคู่กรณีที่แจ้งความเอาผิดกับนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ในหลายคดี

เป็นอีกครั้งที่เสธ.พีทและไผ่ ดาวดิน เผชิญหน้ากัน แต่เป็นเวทีคณะกรรมาธิการ ซึ่งไผ่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการชุดนี้ด้วย

นายรังสิมันต์ โรม ในฐานะโฆษก กมธ. สรุปผลการหารือว่าพล.ต.บุรินทร์ชี้แจงและอธิบายว่าที่ผ่านมา ที่เข้าร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลต่างๆ ตลอดระยะที่คสช.ครองอำนาจ เป็นเพียงแค่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

โดยรับคำสั่งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ใช้ดุลพินิจว่าจะฟ้องใคร ข้อหาอะไร ก็ล้วนเป็นคำสั่งการจากคสช.ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ พล.ต.บุรินทร์ยังยืนยันว่าไม่สามารถใช้ดุลพินิจของตัวเองในการแจ้งความหรือไม่แจ้งความกับใครได้ เนื่องจากต้องทำตามคำสั่งที่มิอาจปฏิเสธได้

นายโรมระบุว่าการพบกันครั้งนี้นับเป็นเรื่องดี ที่ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องได้มาพูดคุยกันบนเวทีคณะกรรมาธิการ อันเป็นการทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย ในอนาคตก็จะยกระดับให้เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อไป

อีกกรณีที่น่าจับตา ก็คือการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากคำสั่งตามมาตรา 44 ซึ่งส่วนใหญ่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และกระทบต่อสิทธิมนุษยชน

จะผ่านการอนุมัติสภาหรือไม่?

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน