10 ปี 99 ศพ ใครคือฆาตกร
คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม โดย…รุก กลางกระดาน

10 ปี 99 ศพ – ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยจริงๆ ที่แม้ในยามโควิดระบาดจนสังคมระส่ำกันไปหมด
ก็ยังมีความเคลื่อนไหวในการรำลึกเหตุการณ์ครบรอบ 10 ปี ในการใช้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ากระชับพื้นที่ในการชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บอีกร่วม 2 พันราย
ซึ่งไม่ใช่เพราะต้องการหวังผลทางการเมืองใดๆ

แต่เป็นเพราะว่าแม้ผ่านมาถึง 10 ปีแล้วความจริงก็ยังไม่ปรากฏ

ไม่รู้สักทีว่าใครกันแน่ที่เป็นคนสั่งฆ่าประชาชน และยังไม่มีใครแม้แต่คนเดียวรับโทษจากความผิดที่ก่อขึ้น

ทุกคนที่เกี่ยวข้องยังคงลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคม บางคนได้ดิบได้ดียิ่งขึ้นไป เหมือนได้บำเหน็จรางวัลเสียด้วยซ้ำ
ยิ่งไปกว่านั้นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม จากสำนวนไต่สวนการตายของศาลที่ระบุว่าอย่างน้อย 17 ศพ เสียชีวิตจากกระสุนปืนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายใต้คำสั่งของศอฉ.

หลังการรัฐประหารปี 2557 คดีความกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ซ้ำยังมีคำสั่งยุติการไต่สวนสำนวนของดีเอสไอออกมาเรื่อยๆ

กลายเป็นคำถามที่ยังค้างคาใจคนในสังคม ว่าคดี 99 ศพนี้จะจบลงอย่างไร
และหากยังไม่มีข้อสรุป ก็จะกลายเป็นข้อทวงถามถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ตลอด
อย่างไรก็ตามน่าสนใจที่เรื่องดังกล่าวสะกิดความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้น
ถึงขั้นโฆษกพรรคออกมาประกาศว่า หากใครกล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ในขณะนั้น ด้วยการใช้ถ้อยคำว่าเป็นผู้สั่งฆ่าประชาชน ก็จะดำเนินคดีโดยเด็ดขาดทุกคน

ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมโฆษกประชาธิปัตย์ ถึงเอานายอภิสิทธิ์ กับคำว่าฆาตกรมาอยู่ด้วยกัน

เพราะเท่าที่เห็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ก็เพียงต้องการตามหาความจริงเพียงเท่านั้น
ไม่ได้กล่าวหาใครเลยว่าเป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด ดังที่โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กังวล
ดังนั้นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือการสนับสนุนให้ความจริงคลี่คลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชายชุดดำที่พยายามกล่าวอ้าง เรื่องเผาบ้าน เผาเมือง เผาห้าง ว่าที่แท้แล้ว เป็นฝีมือใคร
ดีกว่าจะไปไล่จับคนยิงเลเซอร์ทวงถามความยุติธรรม
เพราะที่ควรจับจริงๆ คนที่สั่งให้ไปยิงหัวคนไทยด้วยกันต่างหาก!??

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน