คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม : ปี่กลองการเมืองท้องถิ่น – โดย…เภรี กุลาธรรม

ปี่กลองการเมืองท้องถิ่น – เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์ การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 19 จังหวัด

ประกอบด้วย กระบี่ ชัยนาท ชุมพร ตรัง ตราด นครปฐม ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง ราชบุรี สตูล สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี

ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งแรกของ กกต.ที่เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งท้องถิ่น

ส่วนจังหวัดอื่นจะแบ่งเขตอย่างไร ต้องติดตามรายละเอียดต่อไป

การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกแช่แข็งมากว่า 6 ปี บางแห่งยาวนานถึง 10 ปี หลังจากคสช.ก่อการรัฐประหาร ล้มล้างประชา ธิปไตย ฉวยอำนาจการปกครอง

ขณะนี้หลายพรรคและกลุ่มการเมือง มีความพร้อมและกระตือรือร้น ที่จะส่งคนลงรับสมัครเลือกตั้งทั้งในระดับองค์การ บริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล

สำหรับความเคลื่อนไหวในส่วนของประชาชนนั้น อีสานโพล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “คนอีสานกับการเลือกตั้งท้องถิ่น” พบว่า คนอีสานให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิ์เลือกตั้งส.ส. มากกว่า

แต่ก็ระบุว่าช่วงมกราคม-มีนาคม 2564 เหมาะสมมากที่สุดของการเลือกตั้งท้องถิ่น พร้อมชี้ว่ามี 3 ปัจจัยสำคัญในการชนะ เลือกตั้ง คือ การสังกัดพรรคที่ชอบ นโยบายหาเสียง และประวัติกับผลงานผู้สมัคร

ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล กล่าวว่า การสำรวจครั้งนี้ดำเนินการระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย. จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,106 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

ผลสำรวจร้อยละ 74.9 ให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 12.5 ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง อบต. หรือเทศบาล และร้อยละ 4.6 ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง อบจ. ในขณะที่ร้อยละ 8.0 ไม่แน่ใจ

เมื่อถามว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น การสังกัดพรรคหรือกลุ่มการเมืองใด ที่จะทำให้มีโอกาสชนะมากขึ้น

พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.1 ระบุว่าพรรคเพื่อไทย รองลงมา พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 21.0 ตามมาด้วยคณะก้าวหน้าร้อยละ 12.2 และพรรคภูมิใจไทยร้อยละ 9.0 ขณะที่เหลือร้อยละ 3.7 เป็นพรรคและกลุ่มการเมืองอื่นๆ

ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ ถ้าจัดขึ้นในช่วงนี้ มีแนวโน้มลงคะแนนให้พรรคใด พบว่าเกือบครึ่งหรือร้อยละ 47.7 มีแนวโน้มจะเลือกพรรคเพื่อไทย รองลงมา ร้อยละ 19.5 จะเลือกพรรคพลังประชารัฐ ตามมาด้วยร้อยละ 17.4 เลือกพรรคก้าวไกล ร้อยละ 10.5 จะเลือกพรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 4.9 เลือกพรรคอื่นๆ

เป็นการสำรวจทางการเมืองที่น่าสนใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน