“จันท์เกษม รุณภัย”

ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ “หัวเว่ย” จากแดนมังกร ผงาดเป็นค่ายผู้พัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำในแวดวงไอทีโลก กระทบไหล่ค่ายซัมซุง แห่งเกาหลีใต้ และแอปเปิ้ล แห่งสหรัฐอเมริกา

ทั้งเป็นที่รู้จักในหมู่ผู้บริโภคมากขึ้นหลังการเปิดตัวสมาร์ตโฟน รุ่นพี 20 และ พี 20 โปร สร้างความตื่นตะลึงด้วยการเป็นสมาร์ตโฟนที่มีกล้องถ่ายภาพที่ดีที่สุด และเป็นสมาร์ตโฟนที่มีกล้องหลัง 3 เลนส์ เครื่องแรกของโลก

ทั้งยังเป็นของรางวัลลุ้นโชคในกิจกรรม “ข่าวสด-มติชน บอลโลก 2018” ที่จะมีการจับคูปองผู้โชคดีวันที่ 25 ก.ค. นี้

ด้วยความสำเร็จในการหาจุดขายของค่ายในระยะเวลาอันสั้น นั่นคือ เลนส์มาตรฐานไลก้า เช่นเดียวกันกับซัมซุงที่มีจอภาพซูเปอร์ อะโมเหลด และไอโฟนที่มีระบบปฏิบัติการไอโอเอส ส่งผลให้หัวเว่ยเป็นที่จับตามองของสื่อไอที

ทว่าธุรกิจสมาร์ตโฟนของหัวเว่ยเป็นเพียงหนึ่งในองคาพยพเล็กๆ ขององค์กรผู้พัฒนาและผลิตเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และเป็นเอกชนที่มีมูลค่าทรัพย์สินอันดับที่ 83 ของโลก

ปัจจุบัน หัวเว่ย เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันรายสำคัญต่อการปฏิรูปเทคโนโลยีการสื่อสารจากยุคที่ 4 ไปเป็นยุคที่ 5 หรือ 5 จี

เรียกได้ว่า หัวเว่ย เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ทางด้านธุรกิจโทรคมนาคมของโลกเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่ค่ายสมาร์ตโฟนทั่วๆ ไป

เพื่อทำความรู้จักกับ หัวเว่ย อย่างแจ่มแจ้ง ข่าวสดได้รับโอกาสเดินทางไปเยือนถิ่นหัวเว่ยถึงแดนมังกร อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของยักษ์ใหญ่ทางด้านธุรกิจโทร คมนาคมนี้ ทั้งที่กรุงปักกิ่ง ที่ตั้งของศูนย์ต้อนรับและจัดแสดงนวัตกรรมของค่าย และสำนักงานใหญ่ที่นครเสิ่นเจิ้น ซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย แหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมด้านฮาร์ดแวร์ของโลก

เสิ่นเจิ้นกลายเป็นที่ตั้งของเอกชนยักษ์ใหญ่ทางด้านไอที อาทิ ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตไอโฟน และเท็นเซ็นต์ ผู้จัดจำหน่ายเกมออนไลน์มูลค่าการตลาดอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่ซิลิคอน วัลเลย์ ในสหรัฐจากเดิมที่เคยกินรวบ ปัจจุบันเน้นเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมทางด้านซอฟต์แวร์มากกว่า

ธุรกิจของหัวเว่ย แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ เทเลคอม แคร์เรียร์ เน็ตเวิร์ก (Telecom Carrier Networks) เป็นส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาและสร้างโครงข่ายโทรคมนาคม

เอ็นเตอร์ไพรส์ บิสิเนส กรุ๊ป หรืออีบีจี (Enterprise Business Group) ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลด้านซอฟต์แวร์โซลูชั่น และการให้บริการด้านการโทรคมนาคมกับลูกค้ารายใหญ่ อาทิ องค์กรขนาดใหญ่ และรัฐบาล

ท้ายที่สุด คือ คอนซูเมอร์ บิสิเนส กรุ๊ป หรือซีบีจี (Consumer Business Group) ดูแลผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภค อาทิ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน และอื่นๆ ซึ่งกลุ่มนี้เองที่เป็นที่รู้จักกันในแวดวงผู้บริโภคว่า “หัวเว่ย” แต่เมื่อทำความเข้าใจกับข้อมูลดังกล่าวแล้วจะพบว่าเป็นเพียงหนึ่งในแกนหลักขององค์กรยักษ์ใหญ่นี้เท่านั้น

เคลเมนต์ หว่อง หัวหน้าฝ่ายการตลาดระดับโลกของกลุ่มซีบีจี กล่าวว่า หัวเว่ยเป็นองค์กรเอกชนด้านโทรคมนาคมที่เป็น ผู้สร้างเครือข่ายการสื่อสารประมาณหนึ่งในสามของโลก โดย “ปัญญาประดิษฐ์”หรือ เอไอ ถือเป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาทางเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์ในขั้นต่อไปของหัวเว่ย ต่อจากอินเตอร์เน็ต พลังงานไฟฟ้า และการสื่อสารข้ามทวีป

หัวเว่ยมีเป้าหมายจะบุกตลาดไอทีด้วยการอาศัยจุดเด่นนวัตกรรม 7 อย่าง ด้วยความมั่นใจว่าเป็นสิ่งที่หัวเว่ยโดดเด่นที่สุดกว่าเจ้าอื่นๆ

การสร้างสมาร์ตโฟนที่ดีที่สุด หลังการเปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่นพี 20 และพี 20 โปร ที่ได้เสียงตอบรับจากผู้บริโภคอย่างท่วมท้น ไม่ว่าจะเป็นจุดเด่นกล้องหลัง 3 เลนส์ มาตรฐานไลก้า ประเทศเยอรมนี ที่มีประสบการณ์ออกแบบเลนส์กล้องมานานกว่า 100 ปี และการเล่นเฉดสีใหม่แบบทไวไลต์ ที่ให้สีออกมาเป็นลักษณะไล่โทนสี หรือเกรเดียนต์เจ้าแรกของโลก โดยนายหว่องเปิดเผยถึงเบื้องหลังเทคโนโลยีดังกล่าวว่า ทางวิศวกรของ หัวเว่ยไม่มีการพ่นสีลงไปบนตัวเครื่อง แต่ใช้โลหะพิเศษพ่นเคลือบลงไปแทน โดยโลหะชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่หากกระทบ กับแสงขาวแล้วจะให้สีที่ แตกต่างกันออกไปขึ้นกับความหนาของชั้นโลหะ ส่วนความหนาของชั้นโลหะนี้มีความแตกต่างกันในระดับนาโนเมตร

ชิพประมวลผล หรือเอสโอซี ซึ่งมีระบบประมวลผลเฉพาะสำหรับเอไอฝังไว้ในชิพ เช่น HiSilicon Kirin 970 ที่เป็นขุมพลังของเครื่องพี 20 และพี 20 โปร แตกต่างจากเอสโอซีทั่วไปที่ไม่มีแกนประมวลผลสำหรับเอไอ

กล้องถ่ายภาพผสานเอไอ ด้วยเอกสิทธิ์การนำเสนอ กล้องเอไอ หรือเอไอคาเมร่า ครั้งแรกของโลกผ่านเครื่องพี 20 และพี 20 โปร หัวเว่ยพิสูจน์ให้ผู้บริโภคเห็นแล้วว่า ภาพถ่ายที่สวยงามคมชัดไม่จำเป็นต้องอาศัยมือของผู้เชี่ยวชาญอีกต่อไป

แบตเตอรี่ที่ขนาดประจุสูง และปลอดภัย ตามที่ทางหัวเว่ยได้ใส่ไว้ในเครื่องพี 20 และพี 20 โปร ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย ทำให้ผู้บริโภคมีอุปกรณ์สื่อสารที่มีระยะเวลาการใช้งานยาวนาน

ระบบการชาร์จไฟเร็วที่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมยุโรป อันเป็นหนึ่งในมาตรฐานอุตสาหกรรมที่เข้มงวดและได้รับการรับรองยากที่สุดในโลก แต่หัวเว่ยก็ได้มาแล้ว

เทคโนโลยีการสื่อสารยุคที่ 5 หรือ 5 จี ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นหนึ่งในผู้ผลักดัน พัฒนา และก่อสร้างโครงข่าย ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าอุปกรณ์สื่อสารของหัวเว่ยจะสนับสนุน 5 จี อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

และมาตรฐานความปลอดภัยข้อมูลที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลบนคลาวด์ และการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ เป็นหนึ่งในจุดที่หัวเว่ยคำนึงถึงมากที่สุด

“คนทั่วไปพอได้ยินชื่อหัวเว่ย ก็จะนึกถึงจีน แล้วก็จะเกิด มายาคติที่ว่า เมด อิน ไชน่า คือของไม่ดี ไม่มีคุณภาพ ผมไม่คิดอย่างนั้นนะ เพราะผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยนั้นได้รับการพัฒนา ออกแบบ และผลิตโดยบุคลากรจากทั่วโลก ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ เมด บาย เดอะ เวิลด์ คือ คนทั้งโลกช่วยกันทำ” ประธานฝ่ายการตลาดระดับโลกของ หัวเว่ยซีบีจี กล่าว

หัวเว่ยมีฐานการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจายอยู่ทั่วโลก 16 แห่ง เช่น จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย อินเดีย ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐ รวมพนักงานออกแบบและพัฒนากว่า 23,000 คนทั่วโลก ทั้งยังเป็นเอกชนที่ใช้งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาสูงสุดอันดับ 6 ของโลก มูลค่า 62.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2560

รวมทั้งเติบโตสวนทางกับค่ายสมาร์ตโฟนหลายค่าย ทะยานจากร้อยละ 8.7 เป็นร้อยละ 11.8 ในตลาดล่างถึงกลาง และร้อยละ 28.6 เป็น 33.1 ในตลาด พรีเมียม เมื่อไตรมาสแรกที่ผ่านมาของปีนี้ เป็นสถิติเอกชนที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดของโลกในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยหลักมาจากตลาดสมาร์ตโฟน ซึ่งทางหัวเว่ยแบ่งออกเป็น 4 รุ่น สำหรับผู้บริโภค 4 กลุ่ม ได้แก่ MATE Series สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีล่าสุด P Series ให้ผู้ที่ชื่นชอบดีไซน์หรูหราและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย NOVA Series เพื่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการฟีเจอร์โฉบเฉี่ยว และ Y Series เป็นสมาร์ตโฟนทันสมัยราคาไม่แพง เพื่อให้หนุ่มสาวและเด็กได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีล่าสุดในราคาย่อมเยา

ด้าน นายจิม ฉู รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและงานขายของหัวเว่ยซีบีจี กล่าวว่า หัวเว่ยตั้งขึ้นมานานถึง 30 ปีแล้ว (ก่อตั้งปี 2530) เติบโตจากการมีพนักงาน 4,000 คน กระทั่งล่าสุดมีกว่า 120,000 คนแล้ว ขณะที่ยอดจำหน่ายสินค้าของ หัวเว่ยนั้นเติบโตถึง 150 เปอร์เซ็นต์ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนตนทำงานกับหัวเว่ยมาครบ 21 ปี (ตรงกับวันให้สัมภาษณ์พอดี)

รองประธานบริหารฝ่ายการตลาด กล่าวว่า หัวเว่ย มีสัดส่วนการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในจีน (ราวร้อยละ 85) ขณะที่ผลิตภัณฑ์สมาร์ตโฟนของหัวเว่ยเติบโตและได้รับความนิยมทั่วโลกอย่างรวดเร็ว นำมาสู่สมาร์ตโฟนล่าสุดอย่างพี 20 และพี 20 โปร ถือเป็นความพยายามที่หัวเว่ยต้องการสร้างภาพพจน์ของค่ายเพื่อก้าวไปสู่ความเป็น “บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีระดับโลก” โดยหนึ่งในตลาดที่หัวเว่ยให้ความสำคัญ อาทิ ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีการเติบโตสูงมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงตลาดในสหรัฐ ซึ่งหัวเว่ยประสบความยากลำบากในการจำหน่ายสินค้า หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ดำเนินนโยบายกีดกันการค้ากับทั่วโลก พร้อมกล่าวหา หัวเว่ย ว่าอาจมีความใกล้ชิดกับหน่วยข่าวกรองของจีน ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ ส่งผลให้ทางการสหรัฐมีท่าทีต่อต้านค่ายหัวเว่ย ทำให้บรรดาผู้ให้บริการในสหรัฐหลายรายปฏิเสธที่จะนำเข้าผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย

นายฉูระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาแต่หัวเว่ยนั้นมีการเติบโตในชาติยุโรปอื่นสูงมาก อาทิ อังกฤษที่สูงถึง 500 เปอร์เซ็นต์ แอฟริกาใต้เติบโตเป็นสองเท่า ชาติเหล่านี้ล้วนจัดเป็นชาติแบบตะวันตกแต่กลับไม่มีปัญหานี้ ตนจึงคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะเป็นผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้นมากกว่า

“หากหัวเว่ยสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ได้ ผู้บริโภคก็จะเลือกเราเอง ดังนั้นคิดว่าหากเราทำงานให้หนักขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายในชาติอื่นก็น่าจะชดเชยกันได้ จริงๆ ผมรู้จักคนอเมริกันหลายคนนะ เขาก็สนใจสมาร์ตโฟนของหัวเว่ยด้วยกัน ทั้งนั้น (หัวเราะ)” นายฉูกล่าว

สําหรับประเทศ ไทย นายฉูกล่าวว่า การตอบรับจากผู้บริโภคในไทยยังไม่เท่าหลายชาติในภูมิภาคเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องการให้คนไทยรู้จักหัวเว่ยมากขึ้น และเชื้อเชิญคนไทยให้ไปทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ของค่าย

นอกจากนี้ นายฉูยังกล่าวถึงความผิดพลาดของหัวเว่ยที่เคยเกิดขึ้น กรณีที่ทางหัวเว่ยต้องออกมายอมรับว่าใช้หน่วยความจำแรมและหน่วยเก็บข้อมูลแฟลชภายในที่แตกต่างกันจากต่าง ซัพพลายเออร์โดยไม่ได้แจ้งไว้ชัดเจน หลังมีผู้บริโภคออกมาเรียกร้องคำอธิบายกรณีที่ความเร็วในการส่งข้อมูลและประสิทธิภาพของสมาร์ตโฟน พี 10 แตกต่างกันอย่างมากในหลายเครื่อง ว่าการโต้ตอบของหัวเว่ยในช่วงแรกนั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมหันต์เช่นเดียวกันกับในไทย

“ผมไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นทีมของเราที่ไทยเขินอายมากที่จะต้องออกมาชี้แจงทำความเข้าใจ ดังนั้นทางผมได้ บทเรียนราคาแพงว่าต่อไปนี้เราต้องทำงานอย่างเปิดเผยและโปร่งใส โดยเฉพาะกับสื่อมวลชน ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมสำคัญไปสู่ผู้บริโภค เพราะว่าเรามีผลิตภัณฑ์ที่ดีมากจริงๆ แต่ด้วยความอ่อนประสบการณ์ด้านงานขายของผม ทำให้ผมต้องใช้เวลาเรียนรู้เยอะ” รองประธานฝ่ายการตลาดกล่าว

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวภายในหัวเว่ยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าว ระบุว่า คำกล่าวของนายฉูแม้เป็นการแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารแต่กล่าวโทษทีมไทยอย่างชัดเจน ถือว่าบิดเบือนเนื่องจากหลังเหตุดังกล่าวทีมไทยเคยประสานงานไปยังบริษัทแม่ที่จีนแล้ว ว่าจำเป็นต้องออกมาชี้แจง แต่กลับไม่ได้รับการรับฟัง

การทำความรู้จักกับหัวเว่ยยังไม่จบเพียงเท่านี้ สัปดาห์หน้า วันที่ 1 ส.ค. หลาก&หลาย จะพาไปชมศูนย์วิจัยและพัฒนาที่กรุงปักกิ่ง ตามด้วยโรงงานผลิตสมาร์ตโฟนของหัวเว่ยที่นคร เสิ่นเจิ้น แจ่มจัดชัดเจนแน่นอน ห้ามพลาด!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน