“เรียนวิทย์จบไปคงทำงานแต่ในแล็บ” เสียงสะท้อนจากนักเรียนสายวิทย์หลายๆ คนที่อาจอยู่ในสภาวะหนักใจและเป็นกังวลว่าการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ จบไปแล้วจะมีงานรองรับหรือไม่

แต่หากสังเกตการปรับตัวของเทคโนโลยีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการกำเนิดของเทคโนโลยี AI เทคโนโลยี AR เทคโนโลยี VR และอื่นๆ จะทราบได้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมีต้นกำเนิดมาจาก “Pure Science” หรือ “วิทยา ศาสตร์บริสุทธิ์” ที่นำไปต่อยอดหรือผสมผสานกับศาสตร์เรียนรู้อื่นจนเกิดเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันชาญฉลาดในปัจจุบัน

รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ในยุคที่ทุกสิ่งขับเคลื่อนด้วยดิจิตอลจึงเกิดเทรนด์อาชีพสไตล์วิทย์หลากรูปแบบที่พร้อมตอบโจทย์ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และสังคมในหลากมิติ อีกทั้งพร้อมรองรับเด็กวิทย์รุ่นใหม่เปิดประสบการณ์ร่วม ดังต่อไปนี้

“นักพัฒนาเอไอ : ป้อนข้อมูลเพื่อสั่งการหุ่นยนต์สมองกลอัจฉริยะ” การสร้างหุ่นยนต์ เอไอเพื่อทดแทนการใช้แรงงานมนุษย์ในงานที่เสี่ยงอันตราย และอำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ เพียงโค้ดข้อมูลต่างๆ เข้าระบบ เช่น “หุ่นยนต์แขนกล” ที่ทำหน้าที่เชื่อมโลหะชิ้นส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ “หุ่นยนต์รักษามะเร็ง” ผู้ช่วยแพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ

“นักวิทยาการข้อมูล : เปลี่ยนข้อมูลมหาศาลเป็นทรัพยากรล้ำค่าทางธุรกิจ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลที่สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงลึกที่มีอยู่มากมายในระบบอินเตอร์เน็ตและไอที ยกระดับธุรกิจและลดความเสี่ยงด้านการตัดสินใจขององค์กรผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ทั้งด้านคณิตศาสตร์ สถิติ คอมพิวเตอร์ และนวัตกรรม

“นักพัฒนาเกม – สร้างเกมสุดมันส์แบบมือโปร รับกระแสอีสปอร์ตบูม” เกมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อมนุษย์ในหลายช่วงวัย ทั้งการเล่นเพื่อความบันเทิงหรือเล่นเป็นอาชีพ ก่อนพัฒนาเป็นอี-สปอร์ต หรือกีฬาอิเล็กทรอ นิกส์ในปัจจุบัน จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับนักพัฒนาเกมที่จะดีไซน์รูปแบบเกม วิธีการเล่น หรือโค้ดข้อมูลต่างๆ ให้เนื้อเรื่องของเกมเฉียบคม เร้าใจ

“นักเทคโนโลยีชีวภาพ-แปลงกากอุตสาหกรรมเป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพ” การแปรรูปกากเหลือจากอุตสาหกรรมเกษตรและสารอินทรีย์จากปศุสัตว์ อาทิ แกลบ ชานอ้อย กะลามะพร้าว และมูลสัตว์ สู่พลังงานชีวภาพที่มีศักยภาพ ใช้ทดแทนพลังงานที่มีอยู่ สร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยลดปัญหาโลกร้อน

“นักวิจัยอาหารสุดครีเอทีฟ – เนรมิตเมนูอาหารสุดล้ำ ตอบโจทย์ผู้บริโภคหลากสไตล์” การผสมผสานความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเข้าด้วยกันสู่การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไป ทั้งในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเพื่อการส่งออก

“จากเทรนด์อาชีพดังกล่าวล้วนมีรากฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในเชิงคณิตศาสตร์ สถิติ ฟิสิกส์ เคมี เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร การเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ ฯลฯ คณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. จึงมีนโยบายพัฒนาและปรับโครงสร้างหลักสูตรการเรียนรู้โฉมใหม่ที่บูรณาการองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ ร่วมกับการบริหารธุรกิจ สู่ “SCI+BUSINESS” หรือ “วิทย์คิดประกอบการ” ผ่านสาขาวิชาและหลักสูตรที่พร้อมตอบโจทย์อุตสาหกรรม อาทิ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาสถิติประยุกต์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร และหลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ เป็นต้น” รศ.ดร.สมชายกล่าวทิ้งท้าย

สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทร. 0-2564-4491 ต่อ 2020 เว็บไซต์ www. sci.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊ก ScienceThammasat

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน