หุ่นจำลองเช็กรังสีรักษามะเร็ง
ผลงานจากทีมวิจัย‘ม.นเรศวร’

หุ่นจำลองเช็กรังสีรักษามะเร็ง : สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุนนักวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร พัฒนาหุ่นจำลองยางพาราสำหรับตรวจสอบความถูกต้องปริมาณรังสีจากการรักษาโรคมะเร็ง

หุ่นจำลองเช็กรังสีรักษามะเร็ง

นันทวัฒน์ อู่ดี

ผศ.ดร.นันทวัฒน์ อู่ดี คณบดีคณะ สหเวชศาสตร์ ม.นเรศวร เปิดเผยถึงโครงการวิจัย ‘หุ่นจำลองยางพาราสำหรับตรวจสอบความถูกต้องปริมาณรังสีจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคนิคการรักษาสามมิติ’ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สกว. ว่า ในระยะแรกตนและคณะผู้วิจัยได้พัฒนาหุ่นจำลองด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติระบบฉีดเส้นพลาสติกที่ภายในบรรจุยางพารา ซึ่งมีความหนาแน่นใกล้เคียงเนื้อเยื่อมนุษย์ เพื่อนำมาใช้ในการเป็นแม่พิมพ์หุ่นจำลอง

โดยออกแบบให้หุ่นจำลองมีรูปร่างตามที่ต้องการ เป็นการพัฒนาหุ่นจำลองทางรังสีรักษาขนาดมาตรฐานสำหรับตรวจสอบปริมาณรังสีก่อนการรักษาผู้ป่วยจริงได้ เพื่อลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้จากการให้ปริมาณรังสีที่ผิดพลาด

หุ่นจำลองเช็กรังสีรักษามะเร็ง

คณะผู้วิจัยพัฒนาหุ่นจำลองศีรษะ

ต่อมาในระยะที่ 2 คณะผู้วิจัยพัฒนาหุ่นจำลองศีรษะและลำคอขนาดมาตรฐานจากน้ำยางพาราธรรมชาติ ประกอบด้วย เนื้อยางพาราสำหรับสร้างแทนเนื้อเยื่อ โพรงอากาศ และแคลเซียมคาร์บอเนตผสมกับเรซินสำหรับสร้างแทนกระดูก

ภายในมีช่องสำหรับใส่อุปกรณ์วัดรังสีชนิดไอออไน เซชัน ฟิล์มวัดรังสี และหัววัดรังสีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ ที่สามารถใช้ได้จริงและเป็นแนวทางในการนำหุ่นจำลองไปประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบค่าปริมาณรังสีในเทคนิคการรักษาขั้นสูงต่อไป เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

หุ่นจำลองเช็กรังสีรักษามะเร็ง

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์จำลองการรักษา (CT simulator)

หุ่นจำลองที่สร้างขึ้นสามารถใช้ประเมินค่าปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการวางแผนการรักษาทั้งแบบสองมิติ สามมิติ เทคนิคปรับ ความเข้มรังสี (IMRT) และเทคนิคปรับความเข้มรังสีเชิงปริมาตร (VMAT) ผ่านการทดสอบคุณสมบัติเชิงกลตามมาตรฐานสากลทั้งความคงทนแข็งแรง ความเหนียว ความยืดหยุ่น ความหนาแน่น อายุการใช้งานยาวนาน

ผศ.ดร.นันทวัฒน์กล่าวว่า งานวิจัยในระยะแรกใช้เวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาสูตรยางพาราให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงเนื้อเยื่อมนุษย์ สำหรับตรวจสอบความถูกต้องปริมาณรังสีจากการรักษามะเร็งเต้านมและมะเร็ง ปากมดลูก ต่อมาได้พัฒนาหุ่นจำลองศีรษะและลำคอที่มีโครงสร้างอวัยวะภายในต่างๆ ตามมาตรฐานของผู้ป่วย

“โดยนำมาใช้งานทดแทนการนำเข้าหุ่นจำลองที่ทำจากพลาสติกและมีต้นทุนสูงกว่างานของเราถึง 10 เท่า แต่ไม่สามารถปรับสูตรหรือดัดแปลงให้ใช้ได้กับอวัยวะที่หลากหลาย รวมถึงตำแหน่งใส่หัววัดรังสีได้”

หุ่นจำลองเช็กรังสีรักษามะเร็ง

อ.ศรารัตน์

“ขณะที่หุ่นจำลองที่เราพัฒนาขึ้นมีความยืดหยุ่น ปรับตำแหน่งได้ตามที่ต้องการ ประเมินความผิดพลาดไม่เกินร้อยละ 3 ซึ่งจะช่วยให้นักฟิสิกส์การแพทย์ นักรังสีเทคนิคและแพทย์สามารถทราบค่าปริมาณรังสีที่ให้ผู้ป่วยก่อนการรักษาจริง เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้จากการจัดท่าผู้ป่วยเพื่อการรักษา สามารถสร้างภาพสามมิติเพื่อวางแผนการรักษาได้เหมือนกับผู้ป่วยจริง หากไม่เป็นไปตามแผนก็จะได้แก้ไขก่อนการรักษาจริงต่อไป”

ปัจจุบันหุ่นจำลองได้ถูกนำไปใช้ที่หน่วยรังสีรักษา โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ตลอดจนโรงพยาบาลและศูนย์มะเร็งต่างๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยใช้ได้ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งสมอง หรือส่วนต่างๆ ของศีรษะและลำคอ และในอนาคตจะพัฒนาต่อให้สามารถตรวจผลการ รักษามะเร็งปอด ลำตัวช่วงบนและช่วงล่าง รวมทั้งการประยุกต์ใช้ในการรักษาโรค อื่นๆ ด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปฏิวัติวงการแพทย์!! หมอจุฬาฯ คิดค้น ยาแอนติบอดีรักษามะเร็ง ต่อยอด รางวัลโนเบล

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน