คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

โจแอน ออร์แลนโด จากแผนกเทคโนโลยีและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เปิดเผยว่าการโพสต์ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอของลูกๆ บนเว็บไซต์สังคมออนไลน์ แม้ผิวเผินจะเป็นสิ่งปกติในยุคดิจิตอลที่ใครๆ ก็แบ่งปันเรื่องราวในชีวิต แต่กลับมีภัยเงียบคุกคามการเติบโตของเด็กๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

จากการศึกษาข้อมูลการใช้โซเชี่ยลมีเดียของครอบครัวที่มีลูกในช่วงวัยก่อนเข้าเรียนจนถึงระดับประถมศึกษา พบว่าพ่อแม่โพสต์รูปถ่ายของลูกมากกว่า 200 ภาพต่อปี และเด็ก คนหนึ่งๆ จะมีรูปบนโลกออนไลน์ราว 1,000 รูป ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 5 ขวบ พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลให้เด็กคุ้นชินที่จะเปิดเผยความเป็นส่วนตัว รวมถึงยึดติด กับสถานะ และให้ความสำคัญกับชีวิตบนโลกออนไลน์มากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง

ขณะที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ระบุว่าจากการเปรียบเทียบความนิยมระหว่างคลิปวิดีโอของเด็กเล่นชิงช้า กับเด็กที่ร้องไห้ชักดิ้นชักงอเพราะไม่อยากกินอาหารเช้า ปรากฏว่าคลิปเด็กงอแงมีจำนวนผู้เข้าชมเยอะกว่ามาก เมื่อเห็นว่าเรื่องราวดราม่าสร้างกระแสได้ พ่อแม่ก็จะปลูกฝังค่านิยม ทางสังคมที่ผิดๆ ให้กับเด็ก แม้จะมีชื่อเสียง แต่ต้องแลกด้วยพฤติกรรมแย่ๆ ที่จะติดตัวเด็กไปจนโต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน