11ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์

สัมผัสเทคโนโลยี-วัฒนธรรมญี่ปุ่น : ไอคิว ทะลุฟ้า

11ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์ สัมผัสเทคโนโลยี-วัฒนธรรมญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ด้านวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความร่วมมือสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย คัด 11 เยาวชนไทยพร้อมจัดปฐมนิเทศเตรียมความพร้อมก่อนตะลุยญี่ปุ่นในโครงการ JENESYS 2018 (9th Batch Exchange for “Monozukuri (Manufacturing)” and Technology (Thailand) หรือ โครงการ แลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศอาเซียน จำนวน 8 วัน ระหว่างวันที่ 30 ต.ค. – 6 พ.ย. 2561 ที่กรุงโตเกียว และ จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น โดยมี นายมาซาฮารุ คูบะ เลขานุการเอก สถานเอกอัคร ราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย และ นาง อติพร สุวรรณ หัวหน้างานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบัณฑิตและนักวิจัย สวทช. ร่วมยินดี

11ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์

นายมาซาฮารุ คูบะ กล่าวว่า โครงการ JENESYS ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและโอเชียเนีย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเสริมสร้างความเข้าใจในงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นในมุมที่กว้างขึ้น โดยโครงการ JENESYS 2018 สำหรับประเทศไทย ในกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น้องๆ จะได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มิไรคัง กรุงโตเกียว และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในจังหวัดฮอกไกโด ซึ่งแม้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่น้องๆ จะได้รับความประทับใจและความสนุกสนานกลับมาแน่นอน

“น้องๆ จะได้พบเห็นวัฒนธรรมญี่ปุ่น การศึกษา และเทคโนโลยีในระดับอุตสาหกรรมด้านต่างๆ เมื่อดูแล้วอยากให้ลองตั้งคำถามกับสิ่งที่พบเจอ และหาคำตอบว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมคนญี่ปุ่นถึงสร้างเทคโนโลยีนั้นออกมา โดยกิจกรรมมีระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงมีโปรแกรมทัศนศึกษาที่เข้มข้นมาก และคิดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนในอนาคตสำหรับน้องๆ ได้ รัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งหวังให้เมื่อน้องๆ กลับมาประเทศไทยแล้วเผยแพร่สิ่งที่ได้รับผ่านโซเชี่ยลมีเดีย สู่ครอบครัว และเพื่อนๆ เพื่อเป็นรากฐานที่จะผูกสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในอนาคตต่อไป” นายมาซาฮารุกล่าว

11ทูตเยาวชนวิทยาศาสตร์

แทน-พุฒิเมธและมิ้นท์ – ชุติกาญจน์

สองตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ มิ้นท์ น.ส.ชุติกาญจน์ ศรีสอาดรักษ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.) กรุงเทพฯ เผยว่า “หลังกลับจากโครงการนี้ตั้งใจจะนำ ความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน การที่เราได้ไปรู้จักคนอื่นที่มีพื้นฐานแตกต่างจากเรา เราจะได้เห็นในเรื่องกระบวนการทางความคิดที่แตกต่างกัน และจะได้เห็นอะไรหลากหลายยิ่งขึ้นจากสิ่งที่เราเคยเจอ”

ด้าน แทน นายพุฒิเมธ เลขะกุล พรหมอินทร์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนแสงทองวิทยา จ.สงขลา เผยว่า “มีความคาดหวังจากโครงการ 2 ส่วน ส่วนแรกคือด้านเทคโนโลยี จากหัวข้อของค่ายนี้เราจะไปเยี่ยมชมความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในด้านเทคโนโลยี จุดเด่นคือเขาสามารถนำเทคโนโลยีให้มาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนได้อย่างใกล้ชิด สิ่งที่ผมต้องการทราบคือเขาทำอย่างไร แล้วเราจะนำมาปรับใช้กับประเทศเราได้อย่างไร ส่วนที่สองคือเรื่องมารยาทของผู้คนและเรื่องการฝึกงาน คนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความมีมารยาท ความรับผิดชอบ และคุณภาพของบุคลากร ผมอยากเห็นว่าคนญี่ปุ่นเขาฝึกคนในเรื่องดังกล่าวอย่างไร”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน