คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

ทีมวิจัยจากประเทศบัลแกเรีย และฮ่องกง ระบุว่านอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศนั้นๆ แล้ว หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้สังคมมีความสุข คือ “ยีนความสุข” หรือยีนแฟตตี้ เอซิด เอไมด์ ไฮโดรเลซ (เอฟเอเอเอช) ซึ่งช่วยป้องกันความเสื่อมของ “อะนันดาไมด์” สารเพิ่มความพึงพอใจจากประสาทสัมผัส และกระตุ้นการสร้างโดพามีน หรือฮอร์โมนความสุขนั่นเอง

โดยประชากรชาวสวีเดน ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก มียีนเอฟเอเอเอชมากกว่าร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับประชาชนในกรีซ และอิตาลี ประเทศที่มีความสุขน้อยที่สุดในยุโรป มียีนเอฟเอเอเอชที่ร้อยละ 18 และ 12 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ชาวอิรัก จอร์แดน ฮ่องกง และจีน ซึ่งมียีนเอฟเอเอเอชน้อย ต่างประเมินตัวเองว่าไม่ค่อยมีความสุข เมื่อถูกถามความรู้สึกในสถานการณ์น่ายินดี อย่างได้รับของขวัญ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ชาวรัสเซียและเอสโตเนียซึ่งมียีนเอฟเอเอเอชค่อนข้างมาก กลับประเมินตัวเองว่าไม่ค่อยมีความสุขในสถานการณ์เดียวกัน

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ยีนเอฟเอเอเอชนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งที่สร้างความรู้สึกเป็นสุข แต่สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และค่านิยมของสังคมที่ต่างกัน ทำให้ความสุขของคนในประเทศหนึ่งต่างจากอีกประเทศหนึ่งได้นั่นเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน