เซรามิกไม่แตก สู่เครื่องประดับสวยหรู แกร่งกว่าเหล็ก 5 เท่า

เซรามิกไม่แตก – เว็บไซต์ ซีเอ็นเอ็น รายงานผลงานการคิดค้นของนายวอลเลซ ชาน ปรมาจารย์เครื่องประดับชาวฮ่องกง ประดิษฐ์เครื่องประดับรูปแบบใหม่เป็นเซรามิกที่ไม่แตกหัก จนกลายเป็นตำนานของวงการแกะสลักอัญมณีของฮ่องกง

“เราต้องการนวัตกรรม ถ้าไม่มีความท้าทาย เราก็มัวพึงพอใจกับหัตถกรรมของเมื่อวาน เราก็จะอิ่มเอมอยู่แต่กับอดีต และก็จะไม่มีอนาคต” ชานกล่าว

Credit: Wallace Chan

งานของชานคือการประดิษฐ์เครื่องเคลือบแบบใหม่ที่ใช้เวลาพัฒนานาน 7 ปี จนได้เซรามิกที่มีความแข็งแรงกว่าเหล็กกล้า 5 เท่า ใช้ทำเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ ได้ ว่าแล้วชานก็ทิ้งแหวนตกลงพื้นให้ดู เพื่อยืนยันว่าแหวนไม่แตกจริงๆ

งานของอาจารย์ชานกลายเป็นตำนานเนื่องจากวิธีสร้างงานแกะสลักอัญมณีที่อุตสาหะและช่างคิดด้วยเทคนิคอันซับซ้อน พัฒนามาหลายปีจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเรียกว่า วอลเลซ คัต หรือเทคนิคการเจียระไนแบบวอลเลซ ซึ่งทำให้ชานสร้างภาพที่มีรายละเอียดให้เกิดขึ้นในอัญมณีได้เป็นเอฟเฟ็กต์ หรือปรากฏการณ์ลวงตา 3 มิติ

“ผมเรียนรู้จากสี รูปร่าง แสง” นายชานกล่าวขณะกำลังหมุนบล็อกพลอยสามสีในมือ “เมื่อคุณตัด ยามคุณขัดเงา มันคล้ายดนตรี แสงลอดผ่านหินมีค่า สะท้อนคล้ายบัลเลต์” ชานกล่าว

Credit: Wallace Chan

ในปี 2557 โจว ไท่ ฟุก บริษัทเครื่องประดับยักษ์ใหญ่ของฮ่องกงเชิญชานไปสร้างเครื่องประดับคอหรูจากเพชร 11,000 เม็ด รวมถึงหยกเขียวและลูกปัดหยกขาว กระบวนงานออกแบบต้องใช้ทีมงานรวม 22 คน นานราว 47,000 ชั่วโมง เกิดเป็นชิ้นงานที่แม้ประกอบด้วยหน่วยต่างๆ แต่รวมกันได้ที่มีเอกลักษณ์ ซึ่งปรับแต่งใหม่จนสวมใส่ได้ถึง 27 วิธี

“นักสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเพียงผู้รังสรรค์เพียงงานที่มีอายุการใช้งานสั้นๆ แต่ชิ้นงานที่สร้างนั้นอยู่ยั้งยืนยงไปตลอดกาลได้” ชานอธิบาย พลางชี้ไปที่ขั้นตอนการสร้างงานเซรามิกในห้องทดลองของตนเอง

อย่างแรก นำสารประกอบมาผสมอย่างระมัดระวังและให้ความร้อนเสมอต้นเสมอปลาย ได้เป็นวัตถุกลมแบนขาวจั๊วะ ใช้สิ่วกระเทาะและสลักเป็นแหวนหลายวงหรือเครื่องประดับอื่นๆ ได้ จากนั้นนำแหวนที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดีไปเผาในเตาเผา ก่อนขัดเงาอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้แสงที่ล่องลอยอยู่บนผิว จากนั้นนำแหวนเซรามิกติดเข้ากับโครงไทเทเนียมช่วยยึดตรึงอัญมณี

Credit: Wallace Chan

สำหรับความคิดในการสร้างเซรามิกไม่แตกหัก (ชานแทรกขึ้นมาว่าจริงแล้วๆ ทุกๆ สิ่งล้วนแตกหักได้ทั้งนั้น) มาจากวัยเด็กที่เติบโตในครอบครัวยากจน ตนเองและพี่น้องได้รับอนุญาตให้กินอาหารในภาชนะที่ทำด้วยพลาสติกเท่านั้น ขณะที่พ่อแม่ใช้เซรามิก จนวันหนึ่ง ขณะที่พ่อแม่ออกไปข้างนอก ตนจึงลองเล่นจับช้อนเซรามิก และทำแตกโดยไม่ตั้งใจ จากนั้นโดนลงโทษ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวบ่มเพาะให้มีนิสัยช่างสงสัยต่อคุณสมบัติของเซรามิก

เซรามิกไม่แตก

Credit: Wallace Chan

หลังจากหลายปีที่ลองผิดลองถูกจากวัสดุอื่นๆ กับอัญมนี ชานกลับมาที่เซรามิก มองมันเป็นข้อสรุปของความหรูหรา

ชานกล่าวว่า สำหรับวัตถุที่นำมาทำแหวนดั้งเดิม หลังคุณสวมใส่มาหนึ่งปี แสงของวัตถุจะจางไป แต่เซรามิกคงอยู่ตลอดไป

“10 20 100 ปี เซรามิกยังคงส่องสว่างและเมื่อคุณสวมมัน คุณจะรู้สึกได้ถึงความใกล้ชิด จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเซรามิกที่เป็นแหวนนั้นดูเหมือนกอดนิ้วของตนเอง” ชานกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน