ภัย‘สลีพเท็กซ์’: คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

สลีพเท็กซ์ (พฤติกรรมส่งข้อความตอนหลับ) – อลิซาเบธ ดอว์เดลล์ หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิลลาโนวา สหรัฐอเมริกา ศึกษาผลกระทบของการเสพติดเทคโนโลยีในกลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย โดยติดตามความเคลื่อนไหวของโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนของนักศึกษาที่ร่วมวิจัย จำนวน 372 คน ในช่วงเวลากลางคืน

จากนั้นสอบถามเด็กๆ เกี่ยวกับ “สลีพเท็กซ์” หรือ การส่งข้อความขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นพฤติกรรมสุดประหลาดที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียล ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ชีวิตประจำวันด้วยการพึ่งพิงอุปกรณ์แก๊ดเจ็ต ทั้งสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์

ผลปรากฏว่า นักศึกษาร้อยละ 72 ที่มีพฤติกรรมส่งข้อความตอนนอน จำไม่ได้ว่าตัวเองส่งข้อความหลังจากหลับไปแล้ว และร้อยละ 25 รู้สึกตัวเหมือนส่งข้อความหาคนอื่นระหว่างนอนหลับ แต่จำไม่ได้ว่าพิมพ์อะไรไป

ขณะที่ร้อยละ 26.5 ระบุว่าเคยมีปัญหาสลีพเท็กซ์มาก่อน ด้านผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า พฤติกรรมส่งข้อความตอนหลับเป็นสัญญาณเตือนถึงการใช้เทคโนโลยีมากเกินพอดี แม้ดูผิวเผินจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่การนอนหลับไม่สนิทจะส่งผลต่อคุณภาพการนอน

หากร่างกายไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ การซ่อมแซมส่วนสึกหรอก็ไม่มีประสิทธิภาพ การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายไม่เป็นไปตามกลไก นำไปสู่ปัญหาสุขภาพ และกระทบต่อการเรียน รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันในที่สุด

ติดตามอ่านสาระน่ารู้ได้ที่…

คอลัมน์…เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน