ภูเขาไฟ : ประเภท

ฉบับวานนี้ (8 มกราคม) “สายไหม” ถามว่าภูเขาไฟเกิดขึ้นได้ยังไงและมีกี่ชนิด เมื่อวานรู้ถึงกำเนิดภูเขาไฟแล้ว วันนี้พบกับ 4 ประเภทของภูเขาไฟ คำตอบนำมาจากศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) www.lesa.biz

ภูเขาไฟมีรูปร่างสัณฐานต่างๆ กัน เนื่องจากเกิดขึ้นจากแม็กมาซึ่งมีแหล่งกำเนิดแตกต่างกัน และมีองค์ประกอบของแร่แตกต่างกัน จำแนกชนิดของภูเขาไฟตามลักษณะทางกายภาพได้ 4 ประเภท ดังนี้

1.ที่ราบสูงลาวา (Basalt Plateau) : เกิดจากแม็กมา บะซอลต์แทรกตัวขึ้นมาตามรอยแตกของเปลือกโลกแล้ว กลายเป็นลาวาไหลท่วมบนพื้นผิว ในลักษณะเช่นเดียวกับน้ำท่วม เมื่อลาวาเย็นตัวลงก็จะกลายเป็นที่ราบสูงลาวาขนาดใหญ่ประมาณ 100,000 ถึง 1,000,000 ตารางกิโลเมตร เช่น เกาะสกาย อังกฤษ

2.ภูเขาไฟรูปโล่ (Shield volcano) : เกิดขึ้นจากแม็กมาบะซอลต์ที่มีความหนืดสูง ไหลออกมาฟอร์มตัวเป็นที่ราบสูงลาวา แต่ความหนืดทำให้แม็กมาก่อตัวเป็นภูเขาไฟขนาดใหญ่และอาจสูงได้ถึง 9,000 เมตร แต่มีความลาดชันเพียง 6-12 องศา ภูเขาไฟรูปโล่มักเกิดขึ้นจากแม็กมาซึ่งยกตัวขึ้นจากจุดร้อนในเนื้อโลกชั้นล่าง ตัวอย่างเช่น ภูเขาไฟมอนาคีบนเกาะฮาวายกลางมหาสมุทรแปซิฟิก

ภูเขาไฟ : ประเภท : รู้ไปหมด

3.กรวยกรวดภูเขาไฟ (Cinder cone) : เป็นภูเขาไฟขนาดเล็กมาก สูงประมาณ 100-400 เมตร ความลาดชันปานกลาง เกิดจากการสะสมตัวของแก๊สร้อนในแม็กมาที่ยกตัวขึ้นมา เมื่อมีความดันสูงเพียงพอก็จะระเบิดทำลายพื้นผิวโลกด้านบนเกิดเป็นปล่องภูเขาไฟ

ภูเขาไฟ : ประเภท : รู้ไปหมด

กรวดและเถ้าภูเขาไฟกระเด็นขึ้นสู่อากาศแล้วตกลงมา กองทับถมกันบริเวณปากปล่อง เกิดเป็นเนินเขารูปกรวย ข้อสังเกตคือ ภูเขาไฟแบบนี้ไม่มีธารลาวาซึ่งเกิดขึ้นจากแม็กมาไหล แต่จะมีลักษณะเป็นกรวดกลมๆ พุ่งออกมาจากปากปล่อง แล้วกองสะสมกันทำให้เกิดความลาดชันประมาณ 30-40 องศา เช่น กรวยภูเขาไฟในรัฐโอรีกอน สหรัฐอเมริกา

และ 4.ภูเขาไฟกรวยสลับชั้น (Composite cone volcano) : เป็นภูเขาไฟขนาดปานกลาง มีรูปทรงสวยงามเป็นรูปกรวยคว่ำ สูงประมาณ 100 เมตร ถึง 3,500 เมตร เรียงตัวอยู่บริเวณเขตมุดตัว (Subduction zone) เกิดขึ้นจากแผ่นธรณีมหาสมุทรที่หลอมละลายเป็นแม็กมา แล้วยกตัวขึ้นดันเปลือกโลกขึ้นมาเป็นแนวภูเขาไฟรูปโค้ง (Volcanic arc) สิ่งที่ภูเขาไฟพ่นออกมามีทั้งธารลาวา และกรวดเถ้าภูเขาไฟ สลับชั้นกันไป

ภูเขาไฟ : ประเภท : รู้ไปหมด

เนื่องจากในบางครั้ง แม็กมาแข็งตัวปิดปากปล่องภูเขาไฟ ทำให้เกิดแรงดันจากแก๊สร้อน ดันให้ภูเขาไฟระเบิดและเปลี่ยนรูปทรง ตัวอย่างเช่น ภูเขาไฟฟูจิ ญี่ปุ่น, ภูเขาไฟพินาตูโบ ฟิลิปปินส์, ภูเขาไฟเซนต์เฮเลน รัฐวอชิงตันสหรัฐอเมริกา ภูเขาไฟรูปกรวยเป็นแนวภูเขาไฟรูปโค้งซึ่งเกิดขึ้นจากแม็กมาในบริเวณเขตมุดตัวของเปลือกโลกมหาสมุทรที่หลอม ละลาย หากภูเขาไฟประเภทนี้ระเบิดจะมีความรุนแรงสูงและก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก

ภูเขาไฟไม่มีคาบการระเบิดที่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแรงดันภายใน คุณสมบัติและปริมาณหินที่กดทับโพรงแม็กมา อย่างไรก็ตามนักธรณีวิทยาสามารถพยากรณ์อย่างคร่าวๆ โดยการวิเคราะห์ความถี่ของคลื่นไหวสะเทือน ความรุนแรงของแผ่นดินไหว ความเป็นกรดของน้ำใต้ดินซึ่งเกิดจากแม็กมาอุณหภูมิสูงทำให้แร่ธาตุละลายตัว และความผิดปกติของพฤติกรรมสัตว์

การปะทุของภูเขาไฟที่รุนแรงเกิดขึ้นเมื่อแม็กมาบะซอลต์ยกตัวขึ้นลอยตัวขึ้นจากชั้นฐานธรณีภาค จะทำให้แผ่นเปลือกโลกธรณีซึ่งเป็นหินแกรนิตหลอมละลายกลายเป็นแม็กมาแกรนิต แล้วดันพื้นผิวโลกให้โก่งตัวขึ้น แรงอัดของแก๊สร้อนดันให้ปากปล่องภูเขาไฟระเบิด พ่นฝุ่นเถ้าภูเขาไฟ (Pyroclastic flow) ซึ่งมีความร้อนถึง 900 องศาเซลเซียสขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แล้วตกลงมาทับถมกันที่บริเวณเนินภูเขาไฟ ทั้งลาวาที่ไหลออกมาและเศษวัสดุที่ตกลงมาทับถมกัน ทำให้บริเวณรอบปากปล่องภูเขามีน้ำหนักมาก จึงทรุดตัวกลายเป็นแอ่งภูเขาไฟรูปกระจาด เมื่อเวลาผ่านไปน้ำฝนตกลงมาสะสมกัน ทำให้เกิดเป็นทะเลสาบ

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน