รงพยาบาลจุฬาภรณ์ พลิกโฉมนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยมะเร็ง ระบบประสาท และหัวใจ เปิดตัวเครื่อง “ดิจิทัลเพทซีที” แห่งแรกในเอเชีย

 

เปิดตัวเครื่องดิจิทัลเพทซีที-เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เปิดตัวนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยมะเร็ง ระบบประสาท และหัวใจ “Digital PET/CT Biograph Vision” แห่งแรกในเอเชีย เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2562 ที่ชั้น 1 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ด้วยพระเมตตาและพระวิสัยทัศน์ใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงจัดตั้งและเสด็จเปิด“ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ”เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

สืบเนื่องจากการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์นับเป็นความก้าวหน้าอีกอย่างหนึ่งในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ไทย การจัดตั้งศูนย์แห่งนี้จึงเป็นการช่วยบุกเบิกเทคโนโลยีในด้านการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง และโรคระบบประสาทที่ทันสมัย เพื่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างสูงสุดแก่ประชาชนคนไทย

 

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ทรงวางแนวทางการดำเนินงาน และทรงสนับสนุนทุกวิถีทางทั้งการติดต่อกับต่างประเทศ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ทรงติดตามการก่อสร้าง และติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆด้วยพระองค์เอง เพื่อให้ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติแห่งนี้เป็นศูนย์รวมแห่งความเป็นเลิศทั้งทางด้านวิชาการ เป็นแหล่งศึกษาวิจัยถ่ายทอดองค์ความรู้ และให้บริการทางการแพทย์ด้านการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการร่วมกันช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

ณ ปัจจุบัน ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นศูนย์กลางการผลิตสารเภสัชรังสีจากเครื่องไซโคลตรอนที่สามารถจำหน่ายสารเภสัชรังสีให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีเครื่องเพท-ซีที อีกทั้งให้บริการตรวจเพท-ซีที สแกนแก่ผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาและผู้ป่วยที่ส่งมาจากโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ควบคู่กับการพัฒนาการศึกษาวิจัยคิดค้นการผลิตสารเภสัชรังสีต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ฯ สามารถผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทั้งหมด 13 ตัว

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “ด้วยปรัชญาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือ “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” บุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในแต่ละภาคส่วนจึงล้วนมีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นเลิศทั้งในการพัฒนานวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ การให้บริการทางด้านการแพทย์ และความเป็นเลิศในด้านคุณธรรมและจริยธรรม

ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เป็นเลิศมาใช้เพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนทุกระดับชั้นให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน สนองพระปณิธานอันมุ่งมั่นของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในการสืบสานพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชประสงค์ให้ชาวไทยทุกคนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

อีกทั้งในปี 2562 นี้ เป็นปีที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของการเปิดดำเนินงาน โดยในปีนี้ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์จะมีการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ ที่จะนำมาใช้ให้บริการแก่ประชาชนที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตลอดจนนวัตกรรม ความก้าวหน้าทางการการแพทย์ การสาธารณสุข และการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบรับความต้องการของประเทศไทยอย่างครบวงจร
และเพื่อให้สอดรับตามแผนยุทธศาสตร์ชาติสู่ประเทศไทย 4.0 ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ จึงได้เปิดตัวเครื่อง “ดิจิทัลเพทซีที” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้เปิดตัวให้บริการเป็นแห่งแรกในเอเชีย เพื่อรองรับการให้บริการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท และโรคหัวใจ ของประเทศไทย

ทั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นโรงพยาบาลของประชาชนคนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยยากไร้และด้อยโอกาสที่จะได้มีโอกาสเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากลอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งโรงพยาบาลยึดถือตลอดระยะเวลาที่เปิดดำเนินงานมา

 


ด้านรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงชนิสา โชติพานิช รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ เผยว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีการสร้างภาพทางด้านการแพทย์มีความเจริญก้าวหน้าไปอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างภาพในระดับโมเลกุล (Molecular Imaging) ของเวชศาสตร์นิวเคลียร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจด้วย Positron Emission Tomography (PET) ก็มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการผลิตสารเภสัชรังสีที่มีการพัฒนาอย่างมากเพื่อให้ได้ข้อมูลทางด้านชีวโมเลกุลที่ทันสมัยและมีความเฉพาะเจาะจงต่อโรคเพิ่มมากขึ้น

ดิจิทัลเพทซีที (Digital PET/CT) Biograph Vision เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ล่าสุดที่มีคุณสมบัติสามารถทำการเก็บข้อมูลแบบ dynamic whole body แบบ real time ได้ เพื่อนำมาสร้างภาพและสามารถบ่งชี้ถึงระดับเมตตาบอลิซึมของสารเภสัชรังสีออกมาเป็นค่าเชิงตัวเลข (quantitative) ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ทำให้สามารถประเมินผู้ป่วยเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพสูงสุด

 


โดยคุณสมบัติของเครื่อง มีการตอบสนองที่ดีต่อรังสีความแรงสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยได้กับสารรังสีหลายชนิดมากขึ้น มีขนาดคริสตัลที่ใช้ในการทำหัวนับวัดรังสีเล็กที่สุดในปัจจุบัน ทำให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงมาก สามารถสร้างภาพได้อย่างชัดเจนแม้มีรอยโรคขนาดเล็กทำให้มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น สามารถเก็บค่านับวัดได้ในเวลาที่รวดเร็ว ลดระยะเวลาในการสแกนลงถึง 3 เท่า มีค่า Time of flight ที่สั้นที่สุดในปัจจุบัน สามารถสร้างภาพที่มีรายละเอียด และความชัดเจนสูง เพื่อลดการใช้รังสีกับผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีลดลง และลดระยะเวลาในการตรวจให้สั้นที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย โดยได้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

 

ความแตกต่างของเครื่องเพทซีที (PET/CT) ในอดีตจะรายงานผลค่าของ SUV ซึ่งเป็นเพียงค่าการสะสมของน้ำตาล แต่ในเครื่องดิจิทัลเพทซีที สามารถวิเคราะห์การใช้น้ำตาล (Ki) ในรอยโรคนั้นๆได้ช่วยให้แพทย์มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และติดตามผลการรักษา มีระบบ Software ซึ่งสามารถลด Metal Artifact ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

รวมถึงการขยายบริเวณในการเก็บภาพออกไปเพื่อครอบคลุมบริเวณรอยโรคทั้งหมด มีระบบ AI ช่วยในการระบุตำแหน่งของอวัยวะหรือรอยโรคในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพื่อทำการคำนวณได้โดยอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ มีเทคนิคใหม่ในการถ่ายภาพอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ช่วงหน้าอก และช่องท้องจากการหายใจ และหัวใจที่มีการเต้นอยู่ตลอดเวลา เป็นการแก้ไขการสั่นไหวของภาพโดยไม่เพิ่มเวลาในการถ่ายภาพ ทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดโดยผู้ป่วยไม่ต้องกลั้นหายใจ

นอกจากนี้ บริเวณช่องรับตัวผู้ป่วยมีความกว้างมากถึง 78 เซนติเมตร และขนาดอุโมงค์ที่สั้น ทำให้ลดความอึดอัด และเพิ่มความสบายให้กับผู้ป่วยระหว่างการตรวจวินิจฉัย ซึ่งคุณสมบัติของดิจิทัลเพทซีทีนี้นับเป็นมิติใหม่ของการตรวจวินิจฉัยทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ได้ประโยชน์ทั้งในส่วนของทีมแพทย์ผู้วางแผนการรักษาและผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจด้วยการสแกนที่มีความรวดเร็วและได้ภาพคมชัดสูง

 

การตกแต่งภายในห้องตรวจดิจิทัลเพทซีที ยังได้ขอพระราชทานพระอนุญาตใช้ภาพฝีพระหัตถ์ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในชุดภาพ “หลากลาย หลายชีวิต” ชื่อภาพ “ความรักที่ไม่สามารถจินตนาการได้สำหรับคนไทย” จำนวน 1 รูป เพื่อใช้ในการตกแต่งห้อง ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ ไม่เกิดภาวะเครียดขณะที่เครื่องเพทซีทีกำลังทำงาน ดั่งพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงมีพระดำรัสไว้ว่า “งานศิลปะทำให้ข้าพเจ้ามีความสุข ข้าพเจ้าจึงอยากแบ่งปันความสุขให้กับพี่น้องประชาชนชาวไทย”

 


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ได้มุ่งมั่นที่จะสืบสานการดำเนินงานตามพระปณิธาน และภายใต้ภารกิจในด้านของการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยสำหรับการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีการให้บริการ 2 ส่วนด้วยกัน
ส่วนแรกเป็นการให้บริการตรวจผู้ป่วยด้วยเครื่องเพทซีที (PET/CT) ทุกสิทธิการรักษาทั้งที่เป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และผู้ป่วยที่ส่งมาจากโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาเรามีผู้ป่วยมาเข้ารับบริการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเพทซีทีเพิ่มขึ้น 33% คิดเป็นจำนวนผู้ป่วยกว่า 1,700 รายที่เข้ามารับบริการ

และส่วนที่สอง เรามีภารกิจในการให้บริการสารเภสัชรังสี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากเครื่องไซโคลตรอน โดยบริการให้กับสถานพยาบาลที่มีเครื่องเพทซีที โดยมีทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ร่วมกันคิดค้นพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในการผลิตสารเภสัชรังสีตัวใหม่ๆ ที่ได้มาตรฐานซึ่งในแต่ละปีมีจำนวนการผลิตเพื่อขายสารเภสัชรังสีให้กับโรงพยาบาลต่างๆ จำนวนกว่า 2,000

ปัจจุบัน ศูนย์ไซโคลตรอนฯ สามารถผลิตสารเภสัชรังสีเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา ได้ทั้งหมด 13 ตัว ประกอบด้วย 18F-FDG ตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท และโรคหัวใจ 18F-FDOPA และ 68Ga-DOTATATE ตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง Neuroendocrine Tumor (NETs) และโรคพาร์กินสัน 11C-Choline, 68Ga-PSMA-11 และ 18F-PSMA-1007 ตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 11C-Erlotinib ตรวจวินิจฉัยการกลายพันธุ์ของเนื้องอกในผู้ป่วยมะเร็งปอด 11C-PiB, 18F-THK 5351 และ 18F-NeuraCeq ตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ 18F-FLT ตรวจวินิจฉัยโรคทางระบบประสาทแยกการกลับเป็นซ้ำของเนื้องอกในสมองออกจากการตายของเนื้อเยื่อจากการรักษาด้วยรังสี 177Lu-DOTATATE สารเภสัชรังสีเพื่อนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคมะเร็ง Neuroendocrine Tumor (NETs) และ 177Lu-PSMA-617 สารเภสัชรังสีที่นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก

การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทยให้ก้าวสู่มิติใหม่ของการตรวจวินิจฉัยทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ด้วย “ดิจิทัลเพทซีที” ที่มีประสิทธิภาพ การสแกนด้วยความรวดเร็ว และภาพคมชัดสูงทำให้สามารถประเมินผู้ป่วยเพื่อวางแผนการรักษาได้อย่างเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพสูงสุด ยังเป็นการสนับสนุนงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อการสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งในด้านทุนวิจัย สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือศึกษาวิจัยที่ทันสมัย

อีกทั้ง เพื่อให้เป็นไปตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมีพระดำริให้ประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย และในอนาคต

ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จะเป็นแหล่งเรียนรู้เครื่องมือทางการแพทย์เทคโนโลยีขั้นสูง และมีความทันสมัย เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรสถาบันทางการศึกษา หรือสถาบันทางการแพทย์ต่างๆ เข้าเยี่ยมชม ศึกษาดูงานต่อไป

ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้เริ่มเปิดให้บริการตรวจด้วยเครื่องดิจิทัลเพทซีทีนี้แก่ประชาชนในเดือนมกราคม 2562 ด้วยอัตราค่าบริการเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้ อาทิ ตรวจวินิจฉัยระบบประสาทด้วยเครื่องดิจิทัลเพท-ซีทีราคาเริ่มต้นที่ 10,000 บาท และตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งด้วยเครื่องเพท-ซีทีอนุพันธ์น้ำตาล FDG ราคา 20,000 บาท

โดยเปิดให้บริการทุกวันเพื่อลดระยะเวลาการรอคอยสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเพทซีที และรองรับผู้ป่วยที่สามารถส่งต่อมาจากทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพและความพร้อมในทุกๆด้าน เพื่อส่งมอบมาตรฐานการเป็นศูนย์กลางการให้บริการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยีระดับสูงที่คนไทยทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ สนองพระปณิธานอันมุ่งมั่นขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมีพระประสงค์ให้ประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทร. 0-2574-3355 หรือ 0-64585-5193

สำหรับ10 คุณสมบัติของเครื่อง “ดิจิทัลเพทซีที” (Digital Pet/CT Biograph Vision)
1.Ultra-Dynamic Range ของหัวนับวัด (Detector) มีการตอบสนองที่ดีต่อรังสีความแรงสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถใช้ตรวจวินิจฉัยได้กับสารรังสีหลายชนิดมากขึ้น
2.ขนาดคริสตัลที่ใช้ในการทำหัวนับวัดรังสีมีขนาดเล็กที่สุดในปัจจุบัน ทำให้ได้ภาพที่มีรายละเอียดสูงมาก สามารถสร้างภาพได้อย่างชัดเจนแม้มีรอยโรคขนาดเล็กทำให้มีความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น
3.สามารถเก็บค่านับวัดได้ในเวลาที่รวดเร็ว ลดระยะเวลาในการสแกนลงถึง 3 เท่า
4.มีค่า Time of flight ที่สั้นที่สุดในปัจจุบัน สามารถสร้างภาพที่มีรายละเอียด และความชัดเจนสูง เพื่อลดการใช้รังสีกับผู้ป่วย ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีลดลง และลดระยะเวลาในการตรวจให้สั้นที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย โดยได้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น
5.เครื่อง PET/CT ในอดีตจะรายงานผลค่าของ SUV ซึ่งเป็นเพียงค่าการสะสมของน้ำตาล แต่ในเครื่องดิจิทัลเพทซีที สามารถวิเคราะห์การใช้น้ำตาล (Ki) ในรอยโรคนั้นๆได้ ช่วยให้แพทย์มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และติดตามผลการรักษา
6.สร้างภาพหัวใจแบบ Dual Gating Deviceless ได้ โดยใช้เพียงการจับการเต้นของหัวใจด้วย EKG
7.มีระบบ Software ซึ่งสามารถลด Metal Artifact ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการขยายบริเวณในการเก็บภาพออกไปเพื่อครอบคลุมบริเวณรอยโรคทั้งหมด
8.มีระบบ AI ช่วยในการระบุตำแหน่งของอวัยวะหรือรอยโรคในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพื่อทำการคำนวณได้โดยอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ
9.บริเวณช่องรับตัวผู้ป่วย (Bore) มีความกว้างมากถึง 78 cm. และขนาดอุโมงค์ที่สั้น ทำให้ลดความอึดอัด และเพิ่มความสบายให้กับผู้ป่วยระหว่างการตรวจวินิจฉัย
10.มีเทคนิคใหม่ในการถ่ายภาพอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น ช่วงหน้าอก และช่องท้องจากการหายใจ และหัวใจที่มีการเต้นอยู่ตลอดเวลา เป็นการแก้ไขการสั่นไหวของภาพโดยไม่เพิ่มเวลาในการถ่ายภาพ ทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดโดยผู้ป่วยไม่ต้องกลั้นหายใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน