คอลัมน์ หลากหลาย

มัธธาณะ รอดยิ้ม

“แอปเปิ้ล แคมปัส 2” ซึ่ง จะใช้เป็นสำนักงานใหม่ของบริษัทแอปเปิ้ล ผู้พัฒนา ไอโฟน ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีการสื่อสารของสหรัฐ อเมริกา มีความคืบหน้าการก่อสร้างไปมากแล้ว

ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยภาพที่บันทึกได้ด้วยโดรน เผยให้เห็นถึงความอลังการงานสร้างของอาคารมีรูปโฉมทางสถาปัตยกรรมแสนอัศจรรย์ ในเมือง คูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย

อาคารเด่นแอปเปิ้ล แคมปัส 2 ที่มีรูปโฉมอย่างกับเป็นยานอวกาศ เป็นตึกทรงกลมคล้ายจานรองแก้ว หรือโดนัทอันล้ำสมัยแห่งนี้ ความสูง 4 ชั้น มูลค่าการก่อสร้างกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 175,000 ล้านบาท บนพื้นที่ที่เดิมเคยเป็นของบริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด ใกล้กับถนนหลวงหมายเลข 280

โครงการนี้เป็นความคิดริเริ่มที่ สตีฟ จ็อบส์ ผู้ก่อตั้งแอปเปิ้ล ริเริ่มไว้ก่อนจะเสียชีวิตในปี 2554 จากนั้น ทิม คุก ซีอีโอคนปัจจุบันจึงสานต่อให้การเนรมิตกลายเป็นจริง

จ็อบส์นั้นมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบตามสไตล์การทำงานของเขา และอาคารแอปเปิ้ล แคมปัส 2 นี้ย่อมจะสะท้อนถึงการเป็นวิทยาเขตแห่งอนาคต น่าตื่นตาตื่นใจในทุกรายละเอียด

เพียงแต่ว่าการสร้างตึกแบบไร้ที่ตินั้นไม่ได้เหมือนกับการทำมือถือ เล่นเอาทั้งทีมงานก่อสร้างในอดีตและทีมงานชุดปัจจุบันมึนตึ้บไปไม่น้อย

อาคารนี้มีเส้นรอบวงเกือบ 1.6 กิโลเมตร และกว้าง 4.8 กิโลเมตร รายล้อมไปด้วยร่มไม้ที่อยู่รอบๆ และตรงกลางของตึก

ในฐานบัญชาการแห่งใหม่ของแอปเปิ้ลจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานในการเดินไปมาหาสู่ภายในตึกและบริเวณโดยรอบ ซึ่งจะมีทางเลื่อนและจักรยานกว่าพันๆ คันให้บริการตลอดเวลา

ทางแอปเปิ้ลหวังว่าโครงการก่อสร้าง นี้จะเสร็จสิ้นภายในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้ คาดว่าจะมีพนักงานเข้ามาทำงานกว่า 14,200 ชีวิต

ส่วนประกอบโครงสร้างที่สำคัญ คือ กระจกเรียงต่อกันเป็นแนวโค้งจนครบรอบ 360 องศา รวมไปถึงหอประชุมขนาด 1,000 ที่นั่ง ยิมสำหรับพนักงาน และพื้นที่สำหรับการวิจัยถึง 300,000 ตารางฟุต หรือกว่า 27,870 ตารางเมตร

ส่วนที่จอดรถอยู่ใต้ดิน เพื่อให้พื้นที่กว่าร้อยละ 80 ได้ปกคลุมไปด้วยต้นไม้แทนที่จะเป็นลานซีเมนต์ร้อนระอุ ส่วนพื้นที่ใต้ดินอื่นๆ จะสร้างหอประชุมเพื่อให้ ทิม คุก ซีอีโอแอปเปิ้ลคนปัจจุบันไว้ใช้นำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ กับสาธารณชน

หอประชุมแห่งนี้จะเป็นลักษณะห้องกระจกขนาดใหญ่เพื่อให้พนักงานและ ผู้มาเยือนสัมผัสและเข้าถึงจากด้านนอกได้ แอปเปิ้ลเลือกใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรหลักในการป้อนพลังงานไฟฟ้าให้กับตึกแห่งนี้ และจะดึงไฟฟ้าจากท้องถิ่นรอบข้างมาใช้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้โครงสร้างที่เป็น กระจกก็จะเหมาะกับการวางแผงเซลล์พลังงานสุริยะ หรือโซลาร์เซลล์ เพื่อป้อนพลังงานอีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกัน แอปเปิ้ลยังคงไว้ซึ่งคอนเซ็ปต์รักธรรมชาติโดยจะใช้เทคนิคการออกแบบที่นำเอาการไหลเวียนของอากาศภายนอกเข้ามาช่วยระบายความร้อนในอาคาร แทนที่การใช้เครื่องปรับอากาศ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ต่อปี ตามด้วยการใช้หลอดประหยัดไฟอย่างแอลอีดีในที่ที่แสงธรรมชาติเข้าไม่ถึง พร้อมระบบรีไซเคิลในอาคารทุกที่

การสร้างตึกแห่งนี้ควบคุมอย่างเข้มงวดโดยคณะทำงานจากแอปเปิ้ลที่ต้องการออกแบบให้ตึกดูเรียบง่ายแต่แฝงไปด้วยศักยภาพ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกันกับสินค้าจากแอปเปิ้ล พูดง่ายๆ คือ เรียบหรู ฝ่ายก่อสร้างต้องปฏิบัติตามกฎหลายข้อ อาทิ ห้ามให้เห็นภาพสะท้อนที่กระจกของช่องอากาศหรือท่อร้อยสายไฟ รวมถึงต้องทำตามหนังสือข้อบ่งชี้ หรือ ไกด์ไลน์กว่า 30 หน้าในการติดตั้งไม้ชนิดพิเศษรอบตัวอาคาร

แฮร์มาน เดอ ลา ตอร์เร สถาปนิกของโครงการกล่าวว่า การออกแบบอาคารนี้หลายอย่างคล้ายกับสัดส่วนโค้งมนของโทรศัพท์ไอโฟน ไม่ว่าจะเป็นปุ่มกดลิฟต์ที่คล้ายกับปุ่มโฮมและยังเล่าต่อว่ารูปแบบของโถส้วมยังออกแบบให้มีลักษณะมนคล้ายกับโทรศัพท์ไอโฟนอีกด้วย แต่เขาก็ไม่ได้มองว่าบรรดาผู้บริหารแอปเปิ้ลต้องการจะทำให้ระลึกถึงเครื่องไอโฟน หากเป็นไปตามแนวคิดของรูปทรงและมิติที่สัมพันธ์กันมากกว่า

“แอปเปิ้ลเข้าถึงหลักการดีไซน์ที่ผ่าน การทดลองมาเป็นปีๆ และก็ยึดตามหลักการเหล่านั้น” แฮร์มานกล่าวและว่า การก่อสร้างทุกตารางนิ้วแอปเปิ้ลใส่ใจในรายละเอียดมาก เช่น ช่วงการก่อสร้างขั้นต้น ช่างต้องสร้างเพดานคอนกรีตขัดมันให้ไร้จุดด่างพร้อยคล้ายกับช่องเสียบหูฟังของไอโฟนที่เรียบเนียนทั้งข้างในและข้างนอก

นอกจากนี้ทุกการก่อสร้างต้องได้รับการตรวจรับงานจากคณะทำงานแอปเปิ้ลและผู้รับเหมารายอื่นด้วย มากกว่านั้นการตรวจรับและพิจารณารวมไปถึงขั้นตอนตั้งแต่การเลือกซื้อวัสดุจนถึงการก่อสร้างขนาดที่มีอดีตผู้คุมงานก่อสร้างบ่นว่า “สิ่งที่คุณมองไม่เห็นล้วนสำคัญต่อแอปเปิ้ลทั้งสิ้น”

ในทุกการดีไซน์สำคัญต่อแอปเปิ้ลทั้งสิ้นรวมถึงป้ายต่างๆ ที่ต้องมีข้อบังคับของทางแอปเปิ้ลที่ต้องการให้ทุกป้ายมีลักษณะมันเงา เรียบหรู ไม่เว้นแม้แต่ป้ายนำทางพื้นๆ ที่หน่วยงานป้องกันระงับอัคคีภัยแค่ต้องการจะให้แน่ใจว่าตึกนี้จะมีป้ายนำทางที่ถูกต้อง หากกรณีฉุกเฉินเกิดขึ้น

แฮร์มานระบุว่า อีกหนึ่งงานสำคัญที่ยุ่งยากมากสำหรับการก่อสร้าง คือ ทางเข้าตึก ซึ่งทางแอปเปิ้ลต้องการให้มันสมบูรณ์แบบที่สุด โดยไม่มีธรณีประตูซึ่งแน่นอนว่าโดนท้วงติงจากผู้รับเหมาว่าแอปเปิ้ลต้องการในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทำให้ต้องเสียเวลา เสียเงิน และทรัพยากรโดยใช่เหตุ แต่แอปเปิ้ลก็ยังยืนกรานตามที่ต้องการ

เห็นอย่างนี้แล้วสมศักดิ์ศรีและราคา ผู้พัฒนาไอโฟนอย่างที่สุด ต้องคอยดูต่อไปว่าเสร็จแล้วจะได้ดั่งใจที่แอปเปิ้ลต้องการ หรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน